Stock - Finance

เกิดอะไรขึ้นกับ CPALL? ‘กำไรร่วงหนัก’ ผลงานต่ำกว่าที่คาด

หุ้น CPALL หรือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) คือหนึ่งใน หุ้นขวัญใจมหาชน ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 หมื่นสาขา CP Fresh Mart กว่า 400 สาขา Makro ประมาณ 140 สาขา และล่าสุดกับการควบรวมกิจการ “โลตัส” ที่มีสาขาในไทยกว่า 2,000 สาขา

CPALL รายการผลประกอบการ ประจำไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 133,371.87 ล้านบาท ปรับลดลง 2.87% จากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) และปรับลดลง 9.35% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน (YoY) ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,599.06 ล้านบาท ปรับลดลง 27% จากไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) และปรับลดลง 54% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน (YoY)

เกิดอะไรขึ้นกับcpall

ผลประกอบการที่ CPALL รายงานออกมา ค่อนข้างสร้างความผิดหวังต่อตลาดพอสมควร แม้ว่าทุกคนจะพอทราบกันอยู่แล้วว่า นี่คงไม่ใช่ไตรมาสที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะโดนผลกระทบจากโควิด-19 แต่ตัวเลขกำไร 2,500 ล้านบาท นั้นต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ในตอนแรก  หลายบทวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า บริษัทจะมีกำไรใไตรมาสนี้สูงกว่า 3,000 ล้านบาท

ทำให้หลังประกาศงบเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 หนึ่งวันหลังจากนั้นราคาหุ้น CPALL ก็ร่วงลงถึง -4.53% หรือ ลดลง 2.75 จุด และหากนับตั้งแต่วันที่ 12 จนถึงล่าสุดในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ราคาหุ้นดิ่งลงเกือบ -5% ในเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียว

cp all3

 

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับ CPALL ลองมาดูกันครับ

1. กำลังซื้อผู้ของบริโภคยังไม่ได้กลับมาจริงๆ

จะเห็นว่ายอดขายสาขาเดิม (SSS) ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ หดตัวลง 18% จากปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการลดลงต่อเนื่อง แปลว่ากำลังซื้อยังอ่อนแอ และไม่ได้กลับมาอย่างที่หลายคนคิด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภค ซึ่งก็กระทบไปสู่ต้นทุนต่อหน่วยของ CPALL ที่มากขึ้นด้วย เพราะว่ามีต้นทุนคงที่จากศูนย์กระจายสินค้า แต่จำนวนที่ขายได้ลดน้อยลง 

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่กำไรของ CPALL ยังอ่อนแอ เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยอื่นๆ อาจเป็นเพราะบริษัทไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น เราชนะ, คนละครึ่ง, ม33เรารักกัน และการเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

7 Eleven

2. ต้นทุนทางการเงินจากดีลเทสโก้เอเชีย

ไตรมาสนี้ CPALL จบดีลการซื้อกิจการเทสโก้เอเชีย ทำให้มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเกี่ยวกับดีลดังกล่าวราว 900 ล้านบาท เกิดจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นวงเงิน 84,000 ล้านบาท ซึ่งมีต้นทุนเงินทุนเฉลี่ย 4.6-4.7% ต่อปี ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจ โดยมีการรีแบรนด์ใหม่จาก “เทสโก้ โลตัส” เป็น “โลตัส” จึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ แถมยังไม่สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

มุมมองระยะยาวหุ้น CPALL

จากการสำรวจบทวิเคราะห์หุ้น CPALL เจอว่าทั้ง บล.เอเชีย พลัส, บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บล.หยวนต้า มองตรงกันว่านี่ยังไม่ใช่จุดต่ำสุดของ CPALL แต่แรงกระแทกที่หนักจริงๆ จะรออยู่ในไตรมาส 2 เพราะร้านสะดวกซื้อต้องลดเวลาให้บริการลงจากการระบาดระลอกสาม และยังมีต้นทุนรีไฟแนนซ์เงินกู้ระยะสั้นที่กู้มาซื้อกิจการโลตัสอีกด้วย 

CPALL น่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และเร่งกระจายวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้าง แต่อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังแนะนำ “ซื้อ” หุ้น CPALL เพียงแต่ปรับราคาเป้าหมายลงไปเยอะทีเดียว!!

โดยราคาหุ้น ปิดตลาดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564  ราคาปิดที่ 57.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน