Stock

‘ดาวโจนส์’ พุ่งกว่า 400 จุด นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้น หลังตลาดดิ่งหนัก 3 วันติด

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (13 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ทะยานสูงขึ้น ฟื้นตัวจากที่ร่วงลงมา 3 วันติดต่อกัน แรงหนุนจากการเข้าช้อนซื้อหุ้น ที่ราคาดิ่งลงอย่างหนัก และรองประธานเฟด ยืนยัน แบงก์ชาติ ยังไม่มีแผนเลิกผ่อนคลายนโยบายการเงิน 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 34,038.16 จุด ทะยานขึ้นมา 450.50 จุด หรือ 1.34% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 4,112.44 จุด ปรับขึ้น 49.40 จุด หรือ 1.22% และดัชนีแนสแด็กที่ 13,130.89 จุด บวก 99.21 จุด หรือ 0.76%

Stocksbitcoin ๒๑๐๕๑๓ 1

วันนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีฟื้นตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนพากันช้อนซื้อหุ้นที่ดิ่งลงเมื่อวานนี้ (12 พ.ค.) ซึ่งดัชนีดาวโจนส์ปิดทรุดตัวลง 681.50 จุด หรือ 1.99%  ทำสถิติดิ่งลงรุนแรงที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อ อาจกดดันให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

อย่างไรก็ดี นายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นอย่างมากในเดือนเมษายน จะไม่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงแนวทางการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

เขาบอกด้วยว่า เฟดจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 473,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุด นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม 2563

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 490,000 ราย และต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 507,000 ราย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 3.66 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2563

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนเมษายน  เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.8%

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนเมษายน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo