Stock

‘ดาวโจนส์’ บวกต่อเนื่อง ‘บอนด์ยิลด์’ สูงสุดรอบ 14 เดือน ทุบ ‘แนสแด็ก’ ดิ่งหนัก

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (18 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ดาวโจนส์ ยังทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เอสแอนด์พี 500 และแนสแด็ก เจอกับแรงเทขายอย่างหนัก จากการที่ ผลตอบแทนพันธบัตรทะยานแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 33,206.89 จุด ปรับขึ้นมา 191.52 จุด หรือ 0.58% ดัชนีเเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,966.12 จุด ลดลง 8.00 จุด หรือ 0.20% และดัชนีแนสแด็กที่ 13,359.43 จุด ร่วงลง 165.77 จุด หรือ 1.23%

Stocksbitcoin ๒๑๐๓๑๘

การที่เฟดคาดการณ์ถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งสุดในรอบ 40 ปี หลังจากวิกฤติโควิดลดความรุนแรงลงประกอบกับการให้คำมั่นถึงการคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ระดับ 0% ต่อไปอีกหลายปีนั้น ช่วยหนุนให้ดาวโจนส์ ทะยานขึ้นเป็นทำสถิติสูงสุดรายวันอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ เฟดได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2564 และ 2565 สู่ระดับ 6.5% และ 3.3% ตามลำดับ ขณะที่ปรับลดการขยายตัวของปี 2566 สู่ระดับ 2.2% และเฟดได้คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวในระยะยาวที่ระดับ 1.8%

ขณะเดียวกัน เฟดได้คงตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2564-66 อยู่ที่ระดับ 0.13% ทั้ง 3 ปี และคงตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่ระดับ 2.5%

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เจอกับแรงเทขายในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ทะยานขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 1.74% แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน

การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้เป็นปัจจัยกดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่ม growth stock โดยนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มดังกล่าว และเข้าซื้อหุ้นกลุ่ม value stock ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่ม ที่จะปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าหุ้นกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐเริ่มเปิดเศรษฐกิจ หลังใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สถาบันวิจัยเนด เดวิส คาดการณ์ว่า ดัชนีแนสแด็ก จะทรุดตัวลงอีก 20% หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งแตะระดับ 2%

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 770,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 700,000 ราย

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สู่ระดับ 725,000 ราย จากเดิมรายงานที่ระดับ 712,000 ราย

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังคงสูงกว่าระดับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เคยเกินระดับ 700,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลงสู่ระดับ 746,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563

นอกจากนี้ จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 4.1 ล้านราย แต่ยังสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 4 ล้านราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo