Stock

พุ่งแรง! ปัจจัยบวกล้นตลาด ดัน ‘ดาวโจนส์’ ทะยานกว่า 600 จุด

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (1 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก แรงหนุนจากการที่ตลาดพันธบัตร เริ่มคลายความร้อนแรง และข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด รวมถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ ที่ผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 31,607.94 จุด พุ่งขึ้น 675.57 จุด หรือ 2.18% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,895.61 จุด ทะยานขึ้นมา 84.46 จุด หรือ 2.22% และดัชนีแนสแด็กที่ 13,499.31 จุด พุ่งขึ้น 306.96 จุด หรือ 2.33%

Stocksbitcoin ๒๑๐๓๐๑

นอกจากจะคลายกังวลในเรื่องของการดีดตัวขึ้น ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐแล้ว บรรยากาศการซื้อขายในตลาด ยังได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐให้การอนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) รวมทั้งการที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงาน การเงิน และสายการบิน ต่างก็ดีดตัวขึ้นในวันนี้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้การรับรองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) หลังจากที่วัคซีนดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงแตะระดับ 1.43% ในวันนี้ หลังจากพุ่งสู่ระดับ 1.6% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง  การคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง รวมทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อที่จะพุ่งขึ้นจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตร ที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ

หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้เม็ดเงินในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนที่จะส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมาย

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ คาดว่า กระบวนการอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะหมดอายุลง

ก่อนหน้านี้ สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแบบ fast track โดยใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณที่เรียกว่า budget reconciliation ซึ่งจะปูทางให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถให้การรับรองงบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แทนที่จะใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 สำหรับการผ่านกฎหมายทั่วไป ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถผ่านสภาคองเกรสโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

ขณะนี้ พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ส่วนในวุฒิสภานั้น พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีคะแนนเสียงเท่ากัน 50-50 เสียง ดังนั้น การที่วุฒิสภาจะให้การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยคะแนนเสียงชี้ขาด 1 เสียงจากนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะลงคะแนนเสียงในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขว่า วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตจะไม่สามารถแตกแถวแม้แต่เสียงเดียว

นักลงทุน ยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มีนาคมนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวในแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ขณะที่ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกกว่า 3 ปี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo