Stock

กังวล ‘เงินเฟ้อ-ผลตอบแทนพันธบัตร’ กด ‘ดาวโจนส์’ ร่วง

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (22 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น ร่วงลง โดยได้รับแรงกดดันจากผลตอบแทนพันธบัตร ที่เพิ่มขึ้น และความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะทะยานสูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่า ความน่าสนใจในการเข้าลงทุนในหุ้นจะลดน้อยลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 31,453.40 จุด ลดลง 40.92 จุด หรือ 0.13% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,879.08 จุด ปรับลงมา 27.63 จุด หรือ 0.71% และดัชนีแนสแด็กที่ 13,617.53 จุด ดิ่งลง 256.93 จุด หรือ 1.85%

Stocksbitcoin ๒๑๐๒๑๒ 1

นักลงทุนวิตกว่าการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะลดความน่าดึงดูดของการลงทุนในหุ้น และจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ

หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่าง ๆ จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

ตลาดยังจับตามอง ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปี ว่าด้วยนโยบายการเงิน และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.) และต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ (24 ก.พ.)

นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ รวมทั้ง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

การแถลงของนายพาวเวลในสัปดาห์นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เขาจะกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสชุดใหม่ ที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก ทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครตเช่นกัน

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของนายพาวเวลครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนกำลังกังวลว่า การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อ ที่ส่งสัญญาณพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจผลักดันให้เฟดยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ต่อไปอีกราว 2 ปี

ก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดวงเงินซื้อพันธบัตร ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในปี 2556 ซึ่งส่งผลให้เฟดลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ทำให้วอลล์สตรีท และตลาดหุ้นทั่วโลก ทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo