Stock

กางสถิติ ‘กองทุน LTF’ ถือสั้น หรือยาวก็ ‘ขาดทุน’ หุ้นเล็กแย่กว่าหุ้นใหญ่

กองทุน LTF กลายเป็นประเด็นที่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เพราะว่าปี 2568 เป็นปีแรกที่กองทุนที่เปิดขาย จะครบกำหนดเงื่อนไขสามารถขายได้ทุกหน่วยลงทุน หลังเริ่มมีการจัดตั้งกองทุนครั้งแรกในปี 2547 และลงทุนได้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2562

LTF เป็นกองทุนรวมระยะยาว เน้นการลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV เพื่อส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพในระบบตลาดทุนไทย พร้อมส่งเสริมให้คนทั่วไปเข้าสู่ตลาดหุ้น และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ทำให้ช่วงที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในกองทุนยอดนิยมของผู้ลงทุนชาวไทย และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่โลกการลงทุนของใครหลายคน เพราะหากย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ถือว่าเป็นช่วงที่หุ้นไทยกำลังเติบโตในระดับสูง

กองทุน LTF

อย่างไรก็ดี ในระยะหลังผลตอบแทนของการลงทุนใน LTF ไม่ได้สวยงามเหมือนระยะเริ่มแรก ซึ่งก็สอดคล้องกับสภาวะตลาดหุ้นไทยที่หยุดเติบโตมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้นักลงทุนขาดทุนมหาศาล และดูเหมือนจะไม่คุ้มค่า แม้จะแลกมากับวงเงินลดหย่อนภาษีก็ตาม

จึงเริ่มมีแนวคิดการนำกองทุน LTF กลับมาเสนอขายอีกครั้ง เพื่อหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนในหุ้นไทย พร้อมกับเป็นทางเลือกในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนหลาย ๆ กองที่ยังขาดทุนหนักอยู่  โดยมีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลัง และ FETCO อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกัน รวมทั้งเตรียมโรดโชว์กับนักลงทุนต่างประเทศ ในการบอกเล่าเรื่องดีๆ  ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ

เงินไหลออกกองทุน LTF

Morningstar Thailand เปิดเผยข้อมุลเม็ดเงินไหลเข้า-ออกกองทุน LTF ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กองทุน LTF ทั้งอุตสาหกรรมมีมูลค่าเกือบ 220,000 ล้านบาท และมีเงินไหลออกสุทธิ ดังนี้

  • ปี 2563 ไหลออก 10,710 ล้านบาท
  • ปี 2564 ไหลออก 19,410 ล้านบาท
  • ปี 2565 ไหลออก 31,238 ล้านบาท
  • ปี 2566 ไหลออก 22,854 ล้านบาท
  • ปี 2567 ไหลออก 37,697 ล้านบาท

ส่วนในช่วงต้นปี 2568 พบว่ามีเงินไหลออกจากกองทุน LTF สุทธิมากกว่า 18,000 ล้านบาทแล้ว

5 กองทุน LTF ขนาดใหญ่สุด กระจุกตัวใน บลจ. ขนาดใหญ่ 

  • B-LTF บลจ. บัวหลวง ขนาดประมาณ 31,000 ล้านบาท
  • KFLTFDIV บลจ. กรุงศรี ขนาดประมาณ 18,000 ล้านบาท
  • BLTF75 บลจ. บัวหลวง ขนาดประมาณ 17,000 ล้านบาท
  • SCBLT1 บลจ. ไทยพาณิชย์ ขนาดประมาณ 17,000 ล้านบาท
  • K70LTF-C(L) บลจ. กสิกรไทย ขนาดประมาณ 12,000 หมื่นล้านบาท

กองทุน LTF

เช็กผลตอบแทนยังติดลบทุกช่วงเวลา

ผลตอบแทนของเงินลงทุนโดยเฉลี่ยยังคงอยู่ในระดับติดลบ ไม่ว่าจะเป็นในช่วง 1 ปี, 3 ปี, 5 ปี หรือ 7 ปี

  • ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนย้อนหลังกองทุน LTF ในช่วง 7 ปี ติดลบ  2.18%
  • ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนย้อนหลังกองทุน LTF ในช่วง 5 ปี ติดลบ 1.06%
  • ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนย้อนหลังกองทุน LTF ในช่วง 3 ปี ติดลบ 4.37%
  • ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนย้อนหลังกองทุน LTF ในช่วง 1 ปี ติดลบ  2.18%

สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะถือสั้นหรือยาว หุ้นไทยยังไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ อีกทั้งยังพบว่ากองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางขนาดเล็ก ค่อนข้างได้รับปัจจัยกดดันมากกว่ากองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่

ในอีกมุมหนึ่ง หากเปรียบเทียบผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุน LTF กับผลตอบแทนของดัชนี SET TR Index ซึ่งรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลแล้ว พบว่า LTF โดยเฉลี่ยมีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปีตลอดทั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ยกเว้นเพียงในปี 2564 ที่ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุน LTF สามารถเอาชนะตลาดได้ ในขณะที่ปี 2567 เป็นปีที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของกองทุน LTF ปรับตัวติดลบ แม้ว่าตลาดโดยรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน