ประเมินผล “หุ้นโรงพยาบาล” จะได้รับผลกระทบแค่ไหน หาก “คปภ.” และกลุ่มบริษัทประกันภัย ตัดสินใจหาทางคุมค่ารักษาพยาบาล เพื่อระบบประกันภัยสุขภาพที่ยั่งยืน ด้วยการหันมาเน้นในเรื่อง กรมธรรม์ประกันสุขภาพแบบ “Co-payment”
การที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเบี้ยประกันสุขภาพ ทำให้มีกระแสข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกลุ่มบริษัทประกันภัย ได้หาแนวทางคุมค่ารักษาพยาบาล เพื่อระบบประกันภัยสุขภาพที่ยั่งยืน ตามมาตราฐานประกันสุขภาพแบบใหม่
แนวทางที่สำคัญ คือ การลดประกันสุขภาพเหมาจ่าย และเปลี่ยนเป็นมาเน้นกรมธรรม์ประกันสุขภาพแบบ “Co-payment” แทน ซึ่งหมายถึง การกำหนดหลักเกณฑ์ส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล
เช่น กรณีที่กำหนดเงื่อนไข Copayment 30% แปลว่า หากค่ารักษาพยาบาลตามจริงออกมาเป็น 100,000 บาท ผู้ทำประกันจะมีส่วนในการร่วมจ่าย 30,000 บาท และอีก 70,000 บาทเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกัน ซึ่งตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป มีแนวโน้มสูงที่บริษัทประกันภัยในไทย จะปรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพเป็นแบบ Co-payment มากขึ้น (อาจรวมถึงแบบที่มีความรับผิดส่วนแรก หรือ Deductible ด้วย)
ปัจจุบันกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชนในไทยส่วนใหญ่เป็นแบบเหมาจ่าย สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจากเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่สูงขึ้น รวมถึงความถี่ในการเข้ารักษาพยาบาลที่มากขึ้น โดยเฉพาะบริการผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับการป่วยเล็กน้อยทั่วไป ทำให้อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ตามหลักการแล้ว กรมธรรม์ประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไข Co-payment จะมีเบี้ยประกันที่ต่ำกว่าประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย ทำให้ คปภ. เชื่อว่าการปรับกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชนให้เป็นแบบ Co-payment จะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้อย่างแท้จริง ภายใต้เบี้ยประกันที่สมเหตุสมผล
มุมมองนักวิเคราะห์
จากประเด็นดังกล่าว บทวิเคราะห์ บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า จะทำให้ตลาดเกิดความกังวลในระยะสั้น เพราะจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนอาจปรับตัวลดลง
แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วผลกระทบจะมีจำกัด และเล็งเห็นโอกาสเติบโตในระยะยาว เนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพที่คาดว่าจะลดลงจากการปรับเป็น Co-payment น่าจะเป็นปัจจัยบวกให้มีการเข้าถึงประกันสุขภาพเอกชนได้มากขึ้น
จากการสอบถามข้อมูลจากโรงพยาบาลต่าง ๆ บ่งชี้ว่าการบริการ IPD ไม่ได้เป็นส่วนหลัก โดยประเมินว่า การป่วยเล็กน้อยทั่วไป คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของรายได้จากประกันสุขภาพเอกชน ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากบริการนี้หายไปทั้งหมด ประเมินว่าผลกระทบเชิงลบจะมีจำกัดที่ 2-3% ของรายได้รวม และ 2-4% ของประมาณการกำไรปกติปี 2568 สำหรับโรงพยาบาลเอกชนภายใต้การวิเคราะห์
นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2566 ของ คปภ. ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพเอกชน ทั้งหมด 25.3 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่เป็นกรมธรรม์แบบกลุ่ม 20.9 ล้านคน
ในขณะที่กรมธรรม์แบบรายบุคคลยังมีค่อนข้างน้อยด้วยจำนวนเพียง 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 6.7% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 40.8% และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ที่ 70% ญี่ปุ่นที่ 70% มาเลเซียที่ 22% และอินเดียที่ 12% สะท้อนว่าการเข้าถึงประกันสุขภาพเอกชนในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
ผลกระทบหุ้นโรงพยาบาล
บล. อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินผลกระทบต่อหุ้นโรงพยาบาล โดยใช้สมมติฐานว่ารายได้จากประกันสุขภาพเอกชนลดลง 10% จากการเข้ารับการรักษาการป่วยเล็กน้อยทั่วไป จะกระทบต่อรายได้รวมแค่ไหน
- BDMS คาดรายได้รวมปี 2568 ที่ 111,556 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากประกันสุขภาพ 31% คาดกระทบรายได้รวม 3.1%
- BCH คาดรายได้รวมปี 2568 ที่ 13,194 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากประกันสุขภาพ 25% คาดกระทบรายได้รวม 2.5%
- CHG คาดรายได้รวมปี 2568 ที่ 9,146 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากประกันสุขภาพ 25% คาดกระทบรายได้รวม 2.5%
- RJH คาดรายได้รวมปี 2568 ที่ 3,041 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากประกันสุขภาพ 25% คาดกระทบรายได้รวม 2.5%
- BH คาดรายได้รวมปี 2568 ที่ 28,588 ล้านบาท มีสัดส่วนรายได้จากประกันสุขภาพ 19% คาดกระทบรายได้รวม 1.9%
จะเห็นว่าการที่ BDMS มีรายได้จากผู้ป่วยคนไทยที่มีประกันสุขภาพเอกชน คิดเป็นสัดส่วนที่สูง 31% ของรายได้รวม ทำให้ตลาดดูเหมือนจะมีมุมมองเชิงลบต่อ BDMS จากราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาแล้ว 17% จากจุดสูงสุดล่าสุด โดยซื้อขายที่ PE ปี 2568 ที่ 23 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ดังนั้น จึงมองว่าราคาหุ้นลดลงมากเกินไปเมื่อพิจารณาจากผลกระทบระยะสั้นที่คาดว่าจะมีจำกัด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปิด 3 ปัจจัยหนุน ‘BEM’ ทุบสถิติต่อเนื่องถึงปี 2568
- After You รุกขยายขายใน 7-Eleven ให้ถึง 14,000 สาขา
- จังหวะเก็งกำไร ‘หุ้นยางพารา’ ถึงรอบขาขึ้น
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X: https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg