ลดดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรส์ หุ้นไทยไปทางไหนต่อ? แต่อาจเป็นลบต่อหุ้นธนาคารในระยะสั้น
เรียกว่าเหนือความคาดหมายทีเดียว กับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 ตุลาคม 2567 มีมติ 5 เสียง ต่อ 2 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงสู่ระดับ 2.25% จากเดิมที่อยู่ระดับ 2.50% ถือเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี 5 เดือน
กนง. ให้เหตุผลของการลดดอกเบี้ยรอบนี้ว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ด้านกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง
โดยเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ นอกจากนี้ ดอกเบี้ยที่ลดลงยังอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี มีกรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
หุ้นไทยบวกรับข่าวดี
จากปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวขึ้นทันที โดยปิดตลาดวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ระดับ 1,485.01 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.98 จุด หรือ +1.36% พร้อมทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีได้สำเร็จ
โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Leasing / Non-bank ทะยานบวกยกแผง เนื่องจากจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ด้วยรูปแบบธุรกิจที่ไปกู้ยืมเงินมาแล้วนำไปปล่อยสินเชื่อต่อลด เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นขึ้นมาแรง เพราะจะได้รับอานิสงส์ในเรื่องของต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งจะกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ให้คึกคัก
มุมมองบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าการที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ที่กลับมาสอดคล้องกัน จะช่วยเรียกคืนความเชื่อมั่นนักลงทุน และตามกลไกการลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง จะช่วยเพิ่มปริมาณการซื้อ-ขาย พร้อมกับเพิ่มดัชนีเป้าหมาย SET Index ปลายปีจาก 1,450 เป็น 1,510 จุด
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ 3 ธีมหลัก ได้แก่
หุ้นรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง เช่น MTC, SAWAD และ TIDLOR
หุ้นปันผลสูง เช่น AP, SIRI, LH และ ADVANC
หุ้นกลุ่ม Domestic Play เช่น CPALL, BJC, CENTEL และ CK
บล.ลิเบอเรเตอร์ มองว่าการที่กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ 2.25% แบบเหนือความคาดหมาย ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยพุ่งสวนทางหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลง โดยหุ้นดันตลาดจะเน้นไปที่หุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยจ่ายลดลง เช่น ICT, อสังหาฯ, ไฟแนนซ์ รวมถึงหุ้นปันผลก็เริ่มถูกเร่งเก็บเข้ากระเป๋า
เป็นลบต่อหุ้นธนาคารในระยะสั้น
นักวิเคราะห์ บล.ฟินันซัย ไซรัส ให้ความเห็นว่า หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จะเป็นลบระยะสั้นต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Bank) โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จากโครงสร้างสินเชื่อที่ส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ Loan yield ลดลงทันที
ขณะที่เงินฝากส่วนใหญ่เป็นออมทรัพย์ แม้จะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำมากอยู่แล้ว คาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกลุ่มนี้จะเป็นไปอย่างจำกัด ส่วนเงินฝากประจำต้องใช้เวลากว่าจะครบกำหนดด้วยอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ต่ำลง ทำให้ภาพรวมต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายค่อยๆ ลดลง ซึ่งเชื่อว่าจะมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากประจำตามมา แต่ในอัตราที่ไม่มากเท่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าทุกๆ 0.25% ของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากประจำที่ปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กำหนดให้ลดลงเพียง 0.10% จะกระทบต่อกำไรสุทธิปี 2568 ของกลุ่มธนาคารราว 6.3% จากคาดการณ์ปัจจุบัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ด่วน!! กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เริ่มทันที 16 ต.ค.67
- ธอส. ประกาศ ‘ลดดอกเบี้ยเงินกู้’ ทุกประเภท 0.25% มีผล 1 พ.ย. พร้อมตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก
- ‘ออมสิน’ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผล 1 พ.ย. ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก!
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg