ย้อนตำนาน “BTS” และ “KEX” จากวันนั้นถึงวันนี้ !? ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น KEX ที่ราคาหุ้นละ 65 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2,247 ล้านบาท
เมื่อ 3 ปีก่อน เดือนธันวาคม 2566 มีข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาในแวดวงการลงทุน คือการที่ BTS หรือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น KEX หรือ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ราคาหุ้นละ 65 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2,247 ล้านบาท
การเข้าลงทุนครั้งนั้นทำให้กลุ่ม BTS เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน KEX ที่สัดส่วนมากกว่า 20% ตั้งแต่วันแรกที่ธุรกิจขนส่งพัสดุสีส้ม KEX เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 24 ธันวาคม 2563
BTS เชื่อว่าการเข้าลงทุนใน KEX จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจในเครือแบบเต็มระบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า สื่อโฆษณานอกบ้าน E-Wallet และโลจิสติกส์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจ เพื่อนำมาสู่โอกาสการเติบโตในอนาคต
ย้อนตำนาน “BTS” และ “KEX”
อย่างไรก็ดี การเข้าลงทุนดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นดีลที่ผิดพลาดของ BTS เพราะนับตั้งแต่ KEX เข้า IPO ราคาก็อยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันราคาหุ้น KEX อยู่ที่ 3.90 บาทเท่านั้น ในขณะที่ผลประกอบการก็ขาดทุนเจอกับภาวะขาดทุน เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจขนส่งพัสดุ ยอดผู้ใช้งานที่ไม่เติบโตเหมือนกับช่วงแรกๆ ที่เกิดโควิด
ผลประกอบการย้อนหลังของ KEX
ปี 2563 รายได้ 18,917.06 ล้านบาท กำไร 1,405.03 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 18,972.08 ล้านบาท กำไร 46.92 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 17,145.04 ล้านบาท ขาดทุน 2,829.84 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 11,541.48 ล้านบาท ขาดทุน 3,880.64 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าทั้งรายได้และกำไรของ KEX แย่ลงชัดเจน จนสะท้อนไปยังมูลค่าบริษัทที่ BTS ถืออยู่ไม่น้อย ซึ่งมีการบันทึกขาดทุนด้อยค่าของ KEX โดยฉุดผลประกอบการของ BTS ไม่ใช่น้อยเลย
ผลประกอบการย้อนหลังของ BTS
ปี 2563 รายได้ 34,947.68 ล้านบาท กำไร 8,161.75 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 34,716.60 ล้านบาท กำไร 4,576.27 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 25,763.53 ล้านบาท กำไร 3,825.58 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 18,018.18 ล้านบาท กำไร 1,836.48 ล้านบาท
กระทั่งล่าสุดงบปี 2566/2567 (เมษายน 2566 – มีนาคม 2567) BTS ขาดทุน 5,241 ล้านบาท เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจคือเป็นเพราะการด้อยค่าขาดทุน KEX ที่สูงถึง 4,000 ล้านบาท หลังตัดใจขายหุ้นบางส่วนทิ้ง
ย้อนตำนาน BTS
ในขณะที่ Core operating profit ก็ไม่ได้ดีเลย รายได้กลุ่มธุรกิจ Move ระบบขนส่งมวลชนทางราง ที่คิดเป็น 67% ของรายได้ทั้งหมด ลดลง 2.4% เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู เพราะเปิดให้บริการใช้แล้ว แต่ก็มีรายได้จากค่าโดยสารที่ทยอยเก็บได้มาชดเชยบ้างแต่ไม่เยอะ ส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจ Mix สื่อโฆษณาและการจัดจำหน่าย คิดเป็น 28% ของรายได้ทั้งหมด ลดลง 0.5% แต่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 24.7%
ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปีของ BTS และทำให้ที่ประชุมบอร์ดมีมติงดจ่ายเงินปันผล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 และอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมาย จำนวน 3,284 ล้านบาท เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม ตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท ส่งผลให้บริษัทไม่มีผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการ และจะมีทุนสำรองตามกฎหมาย คงเหลือเพียง 178 ล้านบาท
ทั้งยังเตรียมเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 (วันที่ 25 กรกฎาคม 2567) เรื่องการเพิ่มทุน โดยจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน ไม่เกินจำนวน 650 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.94% ของทุนจดทะเบียนของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4 บาท (รวม 2,600 ล้านบาท) เสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้แก่บริษัทในการเป็นแหล่งเงินทุน สำหรับใช้รองรับแผนการลงทุนเพื่อขยายกิจการในอนาคต
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2567 หุ้น BTS ราคาดิ่งลง 17% คิดเป็นมูลค่าบริษัทที่หายไปกว่า 13,000 ล้านบาท ในวันเดียว หากนับตั้งแต่ต้นปี ราคาหุ้น BTS ปรับลดลงไปแล้ว 34.69% คงต้องติดตามกันว่าสถานการณ์ของ BTS จะเป็นอย่างไรต่อไป
ขณะที่ฝั่งของ KEX ก็จำเป็นต้องรีแบรนด์ โดยหยุดใช้เครื่องหมายการค้า Kerry Express เนื่องจากเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่มาเป็น บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) บริษัทขนส่งรายใหญ่จากเมืองจีน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- แกะงบ ‘BTS’ ทำไมขาดทุนหนัก 4.76 พันล้าน
- วันนี้ไม่ฟรีแล้ว! ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ขึ้น-ลงสถานีไหน เสียเงินกี่บาท เช็กที่นี่ก่อนใช้บริการ
- ด่วน! รางรถไฟฟ้าสายสีชมพูหล่น ทับรถพังยับ 3 คัน ปิดการจราจรถึงเที่ยงวันนี้