Stock

ก้าวใหม่ของ ‘AMARIN’ ทิศทาง ‘หุ้นสื่อ’ ภายใต้กลุ่ม ‘สิริวัฒนภักดี’

หุ้น AMARIN หรือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังดำเนินธุรกิจมากว่า 47 ปี

เริ่มต้นจากการผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ที่ออกสู่ตลาดในปี 2519 จนประสบความสำเร็จ และได้ขยายการเติบโตสู่การทำธุรกิจสื่อครบวงจร ทั้งนิตยสาร สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์

AMARIN

AMARIN ก่อตั้งโดย “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” และบริษัทก็อยู่ในการบริหารของตระกูลอุทกะพันธุ์มาตลอด 4 ทศวรรษ กระทั่งในปี 2559 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอาณาจักรอมรินทร์ เมื่อบริษัทตัดสินใจขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น ให้กับ กลุ่มสิริวัฒนภักดี รวมมูลค่า 850 ล้านบาท 

ภายหลังการซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนั้น ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครืออมรินทร์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 47.62% ขณะที่ผู้ก่อตั้งกลุ่มครอบครัวอุทกะพันธุ์ มีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83%

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่อีกครั้ง เมื่อ “ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์” ทายาทผู้ก่อตั้ง ได้ขายหุ้น Big Lot จำนวนรวม 138,387,052 หุ้น คิดเป็น 13.86% ของหุ้นทั้งหมดให้กับ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดีเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ใน AMARIN เป็น 60.35% ในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริหารในตระกูลอุทกะพันธุ์ ประกอบด้วย เมตตา อุทกะพันธุ์ ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ และโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของบริษัททั้งหมด เพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนใหญ่เข้าบริหารอย่างเต็มตัว

AMARIN

นับเป็น “ปฐมบทใหม่” ของ เครืออมรินทร์ ก็ว่าได้ โดยเปลี่ยนจากการบริหารของตระกูลอุทกะพันธุ์ สู่หัวเรือใหม่ภายใต้ตระกูลสิริวัฒนภักดีอย่างเต็มรูปแบบ จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากว่า ธุรกิจสื่อของบริษัทนับจากนี้จะปรับตัว และเดินหน้าด้วยกลยุทธ์แบบใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าที่ผ่านมา AMARIN พยายามจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่มาโดยตลอด ให้มีความทันสมัยขึ้น ทั้งการเปลี่ยนโลโก้ร้านนายอินทร์ การเพิ่มรูปแบบคอนเทนต์ เน้นโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น การเข้าถือหุ้นเว็บไซต์ “เด็กดี” (Dek-D) และ การเปิดตัวสำนักพิมพ์ใหม่ “ฟีนิกซ์” (PHOENIX)

 สำหรับผลประกอบการของ AMARIN ถือว่าอยู่สถานะกำไร และกลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการขาดทุนอย่างหนักระหว่างปี 2557-2560 หลังกระโดดเข้าไปเล่นในธุรกิจทีวีดิจิทัล 

สรุปรายได้-กำไร AMARINในรอบ 10 ปี 

  • ปี 2556 รายได้รวม 2,064.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 285.08 ล้านบาท
  • ปี 2557 รายได้รวม 1,892.35 ล้านบาท ขาดทุน -89.70  ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้รวม 1,968.63 ล้านบาท ขาดทุน -417.15 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้รวม 1,894.00 ล้านบาท ขาดทุน -628.12 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้รวม 2,196.42 ล้านบาท ขาดทุน -163.94 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้รวม 3,327.10 ล้านบาท กำไรสุทธิ 172.68 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 3,268.46 ล้านบาท กำไรสุทธิ 167.72 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 2,937.11 ล้านบาท กำไรสุทธิ 170.67 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 2,960.61 ล้านบาท กำไรสุทธิ 313.11 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้รวม 4,274.45 ล้านบาท กำไรสุทธิ 474.37 ล้านบาท

AMARIN

ขณะที่ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 1,982.58  ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 128.48 ล้านบาท จากธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ สำนักพิมพ์ ตามด้วยมีเดียและอีเวนต์ รวมทั้ง สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

สุดท้ายนี้ คงต้องจับตาดูว่า ก้าวสำคัญของ AMARIN จะน่าตื่นเต้นแค่ไหน ทั้งการวางโครงสร้างธุรกิจใหม่ ภาพจำใหม่ สายป่านที่แข็งแกร่งขึ้น ตลอดจนการผสานจุดแข็งกับบริษัทต่าง ๆ ในเครือเจ้าสัวเจริญ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนของแผนธุรกิจในเร็ว ๆ นี้ 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน