Stock

‘ดาวโจนส์’ ปิดบวก 141.43 จุด หุ้นเทคโนโลยีพุ่ง หนุนตลาดขาขึ้น

ดัชนีดาวโจนส์ ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (30 มี.ค.)แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง หลังจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน  เสนอมาตรการกำกับดูแลธนาคารขนาดกลางให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในระบบธนาคารของสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 32,859.03 จุด เพิ่มขึ้น 141.43 จุด หรือ +0.43% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 4,050.83 จุด เพิ่มขึ้น 23.02 จุด หรือ +0.57% และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 12,013.47 จุด เพิ่มขึ้น 87.24 จุด หรือ +0.73%

หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณใน ดัชนีเอสแอนด์พี 500ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 1.14% เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิป ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดาวโจนส์

ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 7,000 ราย มาอยู่ที่ 198,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่จำนวน 195,000 ราย

กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานด้วยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 4,000 ราย มาอยู่ที่ 1.689 ล้านราย

ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ยังเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 4/2565 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.6% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งระบุว่ามีการขยายตัว 2.9% และ 2.7% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง หลังจากสื่อรายงานว่าคณะบริหารของไบเดน ได้เสนอมาตรการกำกับดูแลธนาคารขนาดกลางให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส รวมถึงการออกกฎระเบียบให้ธนาคารกลุ่มนี้ ต้องเพิ่มสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง และเพิ่มฐานเงินทุน รวมทั้งต้องเข้ารับการทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) เพื่อลดความเสี่ยงในระบบธนาคาร

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า แม้ขณะนี้ความเสี่ยงที่อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร จะอยู่ในกรอบจำกัด แต่หากวิกฤตการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจ และสถานะการคลังของสหรัฐอ่อนแอลง และจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐในที่สุด

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันนี้ (31 มี.ค.) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo