Stock

ถอน ‘OISHI’ พ้นตลาดหุ้น ตั้งโต๊ะรับซื้อ 59 บาท

“ไทยเบฟ”ประกาศขอเพิกถอนหุ้น OISHI ออกจากตลาดหุ้น พร้อมตั้งโต๊ะรับซื้อราคาหุ้นละ 59 บาท เผยเหตุผลตัดสินใจถอนหุ้น

เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศขอเพิกถอนหุ้น OISHI หรือ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ซึ่งไทยเบฟเตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นคืน (Tender Offer) ในราคา 59 บาทต่อหุ้น

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท OISHI ได้มีมติอนุมัติเรื่องการขอเพิกถอนหลักทรัพย์โดยสมัครใจ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 จากนั้นจะมีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ ไทยเบฟ แจ้งเหตุผลของการตัดสินใจถอนหุ้น ดังนี้

ตลาดหุ้น

ตลาดหุ้น ถอนหุ้น OISHI

1. หุ้น OISHI มีปริมาณการซื้อขายในตลาดไม่มากนัก
ไทยเบฟจึงเห็นว่าการทำ Tender Offer จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถขายหุ้นได้

2. ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจให้มีความชัดเจน
ไทยเบฟกำลังศึกษาการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งอาจจะดำเนินการซื้อจำหน่ายหรือควบรวมกิจการระหว่างบริษัทในกลุ่มไทยเบฟ

3. ลดภาระค่าใช้จ่าย
เนื่องจาก OISHI จะไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกต่อไป ทำให้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายหลายประการที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียน

ปัจจุบันไทยเบฟเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน OISHI ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 298,720,398 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 79.66% โดยไทยเบฟต้องการที่จะซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดจำนวน 76,279,602 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 20.34% ในราคาเสนอซื้อที่ 59 บาทต่อหุ้น แปลว่าไทยเบฟจะต้องใช้เงินประมาณ 4,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการครั้งนี้

ตลาดหุ้น

OISHI มีจุดเริ่มต้นในปี 2542 ด้วยการปลุกปั้นของ “ตัน ภาสกรนที” จากการเป็นภัตตาคารบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น และได้ต่อยอดความสำเร็จสู่ธุรกิจเครื่องดื่มชาเขียวภายใต้แบรนด์ “โออิชิ กรีนที” ซึ่งประสบความสำเร็จถล่มทลาย จนเติบโตสู่บริษัทมหาชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547 ก่อนที่เวลาต่อมาจะตัดสินใจขายกิจการให้กับไทยเบฟในปี 2551 ด้วยมูลค่ากว่า 3,300 ล้านบาท

กระทั่งที่สุดเมื่อปี 2553 ตัน ภาสกรนที ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ OISHI และหวนคืนสู่สังเวียนชาเขียวอีกครั้ง โดยไปปั้นบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า “อิชิตัน” (ICHI) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จนำพา ICHI เข้าตลาดหุ้นในปี 2557 แถมยังเป็นคู่แข่งสำคัญที่ขับเคี่ยวกับ OISHI ได้อย่างสูสี

ตลาดหุ้น

กลับมาดูในด้านผลประกอบการของ OISHI ในงบปี 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) มีรายได้จากการขายและบริการ 12,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.3% จากงวดปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% จากปีก่อน ซึ่งสัดส่วนรายได้ของ OISHI นั้นมาจากเครื่องดื่ม 57.4% และอาหาร 42.6%

ด้านผลประกอบการของไทยเบฟในงวดปี 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) มีรายได้ 272,359 เพิ่มขึ้น 13.2% จากปีก่อน ล้านบาท และกำไรสุทธิ 34,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.2% จากปีก่อน โดยจะเห็นว่าพอร์ตรายได้อาหารและเครื่องดื่มของ OISHI คิดเป็นแค่ 4.6% ของภาพรวมไทยเบฟ ในส่วนของกำไรคิดเป็นสัดส่วน 3.5% เท่านั้น

สุดท้ายนี้หากจำกันได้ กลุ่มไทยเบฟ เคยมีการทำ Delisting tender offer มาแล้วกับ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) เมื่อปี 2560 ผ่านการเสนอซื้อของ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ซึ่งโมเดลการปรับโครงสร้างแบบนี้ กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งกับหุ้น OISHI

ขณะที่ ราคาซื้อขายหุ้น OISHI ในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ราคาปิดตลาดอยู่ที่ 46.50 บาทต่อหุ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน