Stock

‘JKN’ เพิ่มทุน 3 พันล้าน ลุยภารกิจจักรวาล?

หุ้น JKN หรือ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำทัพของ “แอน – จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ได้สร้างเรื่องเซอร์ไฟร์สตลาด เกิดเป็นคำถามสำคัญต่อนักลงทุน และผู้ถือหุ้นของบริษัทไปพร้อมๆ กัน

หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2566 JKN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าที่ประชุมคณะกรรมการมีมติอนุมัติเสนอการเพิ่มทุนจดทะเบียน จํานวน 1,019,790,011 หุ้น ราคาหุ้นละ 3 บาท คิดเป็นมูลค่า 3,059,751,888 บาท เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ตามสัดส่วนจํานวนหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) ในอัตรา 1 ต่อ 1 และรองรับการปรับสิทธิของหุ้นกู้แปลงสภาพที่ให้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของ JKN ที่ครบกําหนดในปี 2568 ซึ่งออกให้แก่ North Haven Thai Private Equity Gemini Company (Hong Kong) Limited

กระบวนการดังกล่าวจะมีการนำเข้าที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่15 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อขออนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท โดยจะกําหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (RecordDate) วันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ และเตรียมกําหนดจะเสนอขายในช่วง 20 – 24 มีนาคม 2566

shutterstock 2132056323

วัตถุประสงค์ของการระดมทุนครั้งนี้ JKN ระบุว่าจะนําเงินไปใช้ชําระคืนหนี้เงินกู้ยืมของบริษัทราว 55% เพื่อเป็นการลดภาระดอกเบี้ย ลดต้นทุนทางการเงินของบริษัท และคงอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทให้อยู่ในระดับเหมาะสมและมีเสถียรภาพทางการเงิน ส่วนอีก 30% จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการที่กําลังขยายตัว ซึ่งจะสะท้อนต่อผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัทตามแผนกลยุทธ์ สุดท้ายอีก 15% จะใช้เป็นเงินทุนในการรองรับการขยายการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การประกาศเพิ่มทุนครั้งนี้ ทำให้เปิดตลาดวันนั้นราคาหุ้น JKN ทรุดทันทีกว่า 13% ลงไปทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 3.84 บาทต่อหุ้น ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ที่หายไปกว่า 400 ล้านบาท ภายในวันเดียวเท่านั้น  จุดที่น่าสนใจคือมูลค่าหลักทรัพย์ปัจจุบัน ณ วันที่ 6 มกราคม 2566 เหลือเพียง 2,800 ล้านบาท ต่ำกว่ามูลค่าเพิ่มทุนที่ประมาณ 3,059 ล้านบาทเสียอีก

ทำไมการเพิ่มทุนของ JKN ถึงสะท้อนข่าวลบได้ขนาดนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วกระบวนการเพิ่มทุน เป็นวิธีการระดมทุนที่หลายบริษัทในตลาดหุ้นใช้กันเป็นปกติ และไม่ใช่เรื่องร้ายอะไร หากนักลงทุนเชื่อว่าเงินที่ได้มารับนั้น บริษัทจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต

Capture

แต่กรณีนี้เห็นชัดเจนว่า นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในแผนธุรกิจ หรือตัวผู้บริหาร จึงตัดสินใจขายหุ้นออกไปก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ลดลง ตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือ “Dilution Effect”

เพราะก่อนหน้านี้ JKN เพิ่งปิดดีลซื้อกิจการและลิขสิทธิ์ Miss Universe ได้สำเร็จ มูลค่าการซื้อขายรวมเกือบ 800 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้ธุรกิจองค์กรนางงามจักรวาลขับเคลื่อน Soft Power จากไทยไปสู่ทั่วโลกใน 5 ด้าน ได้แก่เรื่อง อาหาร แฟชั่น การจัดเฟสติวัล ภาพยนตร์ และศิลปะการต่อสู้

แผนการรุกธุรกิจ Miss Universe มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝั่งเห็นด้วยก็มองว่าเป็นโอกาสในการผลักดันรายได้ใหม่ ๆ ของบริษัท จากการที่องค์กรนางงามจักรวาลดำเนินการนานกว่า 70 ปี จึงเป็นที่รู้จักของผู้คนมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก และมีประเทศได้ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อส่งนางงามเข้าประกวดมากกว่า 94 ประเทศ ทำให้ช่วงนั้นราคาหุ้น JKN วิ่งแรงกว่า 50% ในเวลาไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกมุมมองที่เห็นว่าธุรกิจประกวดนางงามเป็น Sunset Industry แถมยังมีคู่แข่งมากมาย อีกทั้งมูลค่าที่ JKN ทุ่มซื้อก็เป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลย แบบนี้จะทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีปัญหาในอนาคตหรือป่าว ยิ่งหากต้องมีการเพิ่มทุนด้วยแล้ว คงส่งผลกระทบตามมาไม่น้อย

JKN Global Group logo 2022.svg

ดังนั้น เมื่อบริษัทประกาศเพิ่มทุนจริงๆ ด้วยมูลค่ากว่า 3,059 ล้านบาท จึงเกิดแรงต้านอย่างที่เห็น ทั้งนี้ งบการเงิน JKN งวดสิ้นสุด 30 กันยายน 2565 กระแสเงินสดอยู่ที่ 295 ล้านบาท ซึ่งมีหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 2,170 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้สินสถาบันการเงิน 273 ล้านบาท และหนี้หุ้นกู้ถึง 1,895 ล้านบาท

อีกทั้งยังมีประเด็น ก่อนหน้านี้ “แอน จักรพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JKN เคยให้สัมภาษณ์ โดยยืนยันชัดเจนว่า จะไม่มีการเพิ่มทุนแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีเงินทุนที่พร้อมอยู่แล้วต่อการทำธุรกิจ ทว่าผ่านไปไม่ถึง 3 เดือน กลับมีการประกาศเพิ่มทุนออกมาทำเอาผู้ถือหุ้นสับสนไปตามๆ กัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน