Personal Finance

เช็คสิทธิลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2565 มีอะไรบ้าง เตรียมพร้อมไว้เลย

เตรียมพร้อมจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วางแผนลดหย่อนภาษีแต่เนิ่น ๆ ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอะไรได้บ้าง เช็คได้ที่นี่

สำหรับบุคคลธรรมดา ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีสิทธิลดหย่อนภาษีได้หลายประเภท เพื่อให้จ่ายภาษีได้น้อยลง หรืออาจได้ค่าภาษีคืนเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนที่ดี โดย กรมสรรพากร กำหนดสิทธิที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้

สิทธิลดหย่อนภาษี

 

มาดูกันว่าสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอะไรได้บาง

สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและครอบครัว

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ใช้สิทธิได้ทุกคน

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้

3. ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร มีเงื่อนไขดังนี้

  • ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์หนึ่งครั้ง
  • หากตั้งครรภ์สองครั้งในปีเดียวกัน จะได้สิทธิลดหย่อนแยกกันครั้งละไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนการตั้งครรภ์ลูกแฝดถือเป็นการตั้งครรภ์ครั้งเดียว
  • กรณีที่สามีภรรยายื่นภาษีร่วมกัน ให้คนที่ยื่นภาษีหลักเป็นคนใช้สิทธินี้ แต่ถ้าสามีภรรยาแยกกันยื่นภาษี ผู้ที่ใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนนี้ต้องเป็นฝ่ายภรรยาเท่านั้น

LINE ALBUM กลุ่มเปราะบางเยียวดาเด็ก ๒๒๐๖๒๗ 0

4. ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท มีเงื่อนไข ดังนี้

  • ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมที่มีการจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรม
  • บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปีและกำลังศึกษาอยู่
  • ถ้าอายุเกิน 25 ปีขึ้นไป ต้องมีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • กรณีเป็นบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปและเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท

5. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  • บิดามารดามีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
  • ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา เช่น บิดามารดาจดทะเบียนสมรส หรือบิดาจดทะเบียนรับรองบุตร ส่วนบุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนนี้
  • กรณีบิดามารดามีบุตรหลายคน ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำซ้อนระหว่างพี่น้องได้ ต้องทำหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ระบุว่าบุตรคนใดจะเป็นฝ่ายเลี้ยงดูบิดามารดา เพื่อเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

LINE ALBUM กลุ่มเปราะบางเยียวดาเด็ก ๒๒๐๖๒๗ 2

6. ค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ หักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  • ผู้พิการหรือทุพพลภาพจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • กรณีคนพิการต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ ส่วนคนทุพพลภาพ ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันถึงภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพหรือทุพพลภาพ
  • ต้องทำหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04) เพื่อเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
  • กรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรสของผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วน เช่น ผู้มีเงินได้มีบุตรเป็นผู้พิการสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งค่าลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนอุปการะผู้พิการ

7. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

ถ้ามีผู้กู้ร่วม สิทธิประโยชน์จะเฉลี่ยตามจำนวนคนที่ร่วมกู้ เช่น สามีภรรยากู้ซื้อบ้านร่วมกัน จ่ายดอกเบี้ยตามจริงไป 100,000 บาท จะสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าดอกเบี้ยบ้านได้คนละ 50,000 บาท

8. ค่าลดหย่อน ช้อปดีมีคืน 2565 เป็นโครงการกระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศของภาครัฐ โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2565 ด้วย

LINE ALBUM money ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ๒๒๐๖๒๗

สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทการออมและการลงทุน

1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 9,000 บาท

2. ค่าเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์

กรณีผู้มีเงินได้ทำประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ตนเองสามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตจากกรมธรรม์ทุกฉบับ รวมทั้งประกันแบบสะสมทรัพย์มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

กรณีทำประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสมาใช้ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย

3, ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของตนเอง ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาทต่อปี เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและประกันแบบสะสมทรัพย์ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

4. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ค่าเบี้ยประกันสุขภาพทั้งของบิดามารดาตนเองและบิดามารดาของคู่สมรส (กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้) ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่รวมกันสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี บิดามารดาทั้งของตนเองและของคู่สมรสต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

5. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี หรืออาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทต่อปี กรณีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

กรณีใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปยังไม่ครบ 100,000 บาท สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญบางส่วนไปหักลดหย่อนในส่วนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปให้ครบ 100,000 บาทก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือมาหักลดหย่อนตามเงื่อนไขของค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ

6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

7. กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Funds: SSF) ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

8. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ใช้ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท

10. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อาจเป็นการลงทุนในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งหรือในฐานะนักลงทุนอิสระก็ได้ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

LINE ALBUM money ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ๒๒๐๖๒๗ 0

สิทธิลดหย่อนภาษีประเภทเงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆ แล้ว
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลของรัฐ ใช้ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆ แล้ว
  • เงินบริจาคพรรคการเมือง ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo