Personal Finance

เช็ค 4 สัญญาณอันตรายเมื่อหนี้ท่วม พร้อมเปิด 5 เทคนิคแก้หนี้ ทำแบบนี้รอดแน่!

สำรวจอาการคนหนี้ท่วมหัว เปิด 4 สัญญาณอันตรายเมื่อเริ่มผ่อนไม่ไหว พร้อมเปิด 5 เทคนิคจัดการหนี้ ทำแบบนี้โล่งสบาย เคลียร์ได้แน่นอน!

ไม่ว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน หากไม่มีวินัยทางการเงินย่อมมีโอกาสสูงที่จะทำให้เงินหมดตัว และเมื่อถึงวันนั้นก็ต้องหาทางออกด้วยการไปกู้หนี้ยืมสิน เมื่อหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดินพอกหางหมู สุดท้ายกลายเป็นคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

เทคนิคจัดการหนี้

สัญญาณอันตรายเมื่อหนี้เริ่มท่วมหัว

1. กระสับกระส่าย

  • การมีภาระหนี้สินท่วมหัวเพราะตัวเองก่อขึ้นล้วน ๆ และยิ่งถึงเวลาจ่ายหนี้แล้วหาเงินไม่ทันก็มักจะมีอาการอยู่ไม่เป็นสุข ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย ทานอะไรก็ไม่อร่อย นอนไม่หลับ ในหัวคิดแต่ว่าจะหาเงินจากที่ไหนไปให้เจ้าหนี้

2. ไม่อยากคุยเรื่องเงิน

  • เวลาเพื่อน ๆ คุยกันถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ จะไม่อยากมีส่วนร่วมกับบทสนทนา เพราะเหมือนเป็นการไปสะกิดให้จิตใจห่อเหี่ยวมากกว่าเดิม หรือหากมีหนี้สินมาก ๆ อาจถึงขั้นผวาเมื่อได้ยินคนรอบข้างพูดถึงเรื่องเงิน สังเกตว่าผู้ที่มีภาระหนี้สินท่วมหัวจะชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว

3. เริ่มจ่ายหนี้ช้า

  • ในอดีตสามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด แต่อยู่ ๆ เริ่มจ่ายหนี้ช้าหรือจ่ายได้ไม่ครบตามจำนวน หรือถอนเงินเก็บมาจ่ายหนี้ หากเป็นแบบนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีหนี้สินสูงเกินไป

4. ยอดหนี้ไม่ลด

  • โดยปกติแล้ว เมื่อจ่ายหนี้ ยอดหนี้จะค่อยๆ ลดลง แต่เมื่อสำรวจดูจะพบว่ายอดหนี้กลับเพิ่มสูงขึ้น แสดงว่ามีการก่อหนี้ก้อนใหม่เข้ามา ทำให้เงินต้นและภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

เทคนิคจัดการหนี้

เดินหน้าแก้หนี้

เมื่อสำรวจตัวเองและพบว่าเริ่มมีอาการข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น อันดับแรกให้ตั้งสติ อย่าหนีปัญหา แล้วเดินหน้าแก้หนี้

1. สำรวจรายจ่าย แล้วลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

  • วิธีการง่าย ๆ คือ ดูว่าในแต่ละเดือนมีรายจ่ายอะไรบ้าง แล้วให้จดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เช่น ค่าดูหนัง ค่าทานอาหารนอกบ้าน ค่าฟิตเนสรายเดือน ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ จากนั้นสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ซื้อของที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป พูดง่ายๆ จะประหยัดและมัธยัสถ์มากขึ้น

2. จัดลำดับการจ่ายหนี้

  • ให้จดหนี้ทั้งหมดแล้วจัดลำดับหนี้ด้วยการให้หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดอยู่เป็นลำดับแรก แล้วไล่ระดับลงมาเรื่อย ๆ จากนั้นให้เคลียร์หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ๆ ให้หมดก่อน เช่น หนี้นอกระบบ หนี้บัตรกดเงินสด หนี้บัตรเครดิต

3. หยุดก่อหนี้ใหม่

  • วิธีหักดิบเพื่อทำให้ภาระหนี้ไม่สูงไปมากกว่านี้ ก็คือ หยุดก่อหนี้ใหม่ ซึ่งต้องสัญญากับตัวเองว่าถ้าหนี้ก้อนเดิมไม่หมดไปจากชีวิตจะไม่ก่อหนี้ใหม่เป็นอันขาด

4. ขายสินทรัพย์บางอย่างไปจ่ายหนี้

  • หลังจากประหยัดก็แล้ว ขี้เหนียวสุดๆ ก็แล้ว แต่ภาระหนี้ก็ลดลงเพียงเล็กน้อย ถ้าเป็นแบบนี้ต้องสำรวจว่าตัวเองมีสินทรัพย์อะไรบ้างที่พอจะขายเป็นเงินแล้วนำไปจ่ายหนี้ บางครั้งสินทรัพย์ที่ว่าถึงแม้จะมีคุณค่าทางจิตใจ แต่ต้องตัดใจขายเพื่อแลกกับความสุขของชีวิตในระยะยาว

เทคนิคจัดการหนี้

5. รวมหนี้

การแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วยวิธีการรวมหนี้ ส่วนใหญ่ที่ดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จ ก็คือ ผู้ที่มีหนี้สินไม่สูงมาก เช่น 1 แสนบาท และเป็นหนี้สินประเภทเดียวกัน เช่น หนี้จากการใช้บัตรเครดิต 5 ใบ เป็นต้น วิธีการ คือ นำหนี้บัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่มารวมไว้ที่เดียว เพื่อลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบให้เหลือภาระดอกเบี้ยที่เดียว เมื่อรวมหนี้ได้แล้ว

โดยวิธีดังกล่าวลูกหนี้ต้องเจรจากับผู้ออกบัตรเครดิต (สถาบันการเงิน) ว่าจะรวมหนี้อย่างไร รวมถึงรูปแบบการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เช่น ขอสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งผู้กู้สามารถขอกู้ได้วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ และดอกเบี้ยต่ำ (ต่ำกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต) ถัดจากนั้นก็นำเงินกู้ก้อนใหม่ไปจ่ายหนี้บัตรเครดิต

การมีหนี้สิน ไม่มีความสุขแน่นอน ซึ่งหากใครมีประสบการณ์คงรู้ซึ้งถึงความทรมาน และในช่วงเป็นหนี้ต้องรับมือและใช้ชีวิตกันอย่างไร ดังนั้น หากไม่ต้องการอยู่กับหนี้สินไปตลอดชีวิต ทางออกง่ายๆ คือ มีวินัยทางด้านการเงิน รู้จักเก็บ รู้จักใช้ รู้จักพอดี ถ้าทำได้ชีวิตจะปลอดหนี้และมีความสุข

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารไทยพาณิชย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo