Personal Finance

ตอบทุกข้อสงสัย! ‘ธปท.’ อธิบายละเอียด สาเหตุ ‘ตัดเงินผิดปกติ’

“ธปท.” อธิบายละเอียด ทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ “การตัดเงินผิดปกติ” ผ่านบัตรเครดิต และเดบิต รวมถึง การที่ระบบธนาคารตรวจจับความผิดปกติไม่ได้ และเกิดกับบัญชีแบบไหนบ้าง 

จากกรณีที่บัญชีธนาคารของผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ถูกตรวจพบว่า มีการตัดเงินผ่านบัตรเดบิต และบัตรเครดิต อย่างผิดปกติ โดยที่เจ้าของบัญชีไม่ได้ทำธุรกรรมตามรายการที่ตรวจพบ และไม่ได้รับการแจ้งเตือนถึงความผิดปกติในเรื่องนี้แต่อย่างใดนั้น

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาให้คำตอบอย่างละเอียดถึงทุกข้อสงสัย ที่เกิดจากการตัดเงินผิดปกติผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิตดังกล่าว

ตัดเงินผิดปกติ

สาเหตุของการตัดเงินผิดปกตินี้ เกิดจากอะไร ใช่การแฮกระบบ หรือข้อมูลรั่วไหลจากระบบธนาคารพาณิชย์ หรือไม่

โดยปกติ จะมีมิจฉาชีพสวมรอยทำธุรกรรมอยู่แล้ว ผ่านข้อมูลที่อาจจะรั่วไหลจากร้านค้าออนไลน์ ที่มีระบบความปลอดภัยไม่ดีพอ หรือการทุจริตของพนักงานร้านค้า หากตรวจพบ ผู้ใช้บัตรสามารถร้องเรียนผู้ให้บริการได้ ซึ่งผู้ให้บริการบัตรส่วนใหญ่ จะมีการคุ้มครองผู้ใช้บัตรอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ยังไม่มีการรั่วไหลของข้อมูลจากระบบธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ระบบยังมีความมั่นคงปลอดภัยดี

กรณีที่เกิดขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคมที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญเกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรเดบิต คือ หมายเลขบัตรและวันหมดอายุ แล้วนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศ ที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) หรือกลไกที่เพิ่มความปลอดภัยอื่น ๆ เช่น การถามชื่อ หรือรหัสไปรษณีย์ของผู้ถือบัตร หรือรหัสหลังบัตร (CVV/CVC)

รายการส่วนใหญ่มีจำนวนเงินที่ต่ำ และใช้เป็นจำนวนหลาย ๆ ครั้ง

ตัดเงินผิดปกติ

ทำไมไม่มีการส่ง OTP ก่อนตัดเงินแม้จะจำนวนน้อย ควรให้มีส่ง OTP ทุกครั้ง

โดยปกติ ธุรกรรม online ระบบจะกำหนดให้มีการยืนยันตัวตนการทำธุรกรรม เช่น ใส่ SMS-OTP แต่บางร้านค้าจะยกเว้นการใส่ OTP ในกรณีที่เป็นจำนวนเงินน้อย ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้

กรณีนี้หากเกิดความเสียหายขึ้น ร้านค้าเหล่านั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย โดยธนาคารจะเป็นผู้ประสานงานแทนลูกค้าหลังได้รับแจ้ง

เหตุใดระบบของธนาคารจึงไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติดังกล่าว เช่น ความถี่ในการถูกปฏิเสธธุรกรรมของมิจฉาชีพได้ ทำไมต้องรอจนเป็นข่าวแล้ว จึงค่อยมีการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ

ธนาคารมีระบบตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติอยู่แล้ว โดยแต่ละธนาคารจะตั้งค่าระบบตรวจจับ ได้แก่ การกำหนดเพดาน และเงื่อนไขการใช้งานของบัตร ตามลักษณะประเภทร้านค้า และประเภทสินค้าแตกต่างกันไป

ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดครั้งนี้ จึงเป็นแบบเฉพาะแห่ง ไม่ได้เกิดกับทุกธนาคาร ธนาคารที่ตั้งเกณฑ์การตรวจจับไว้ไม่เข้ม อาจจะมีธุรกรรมเหล่านี้หลุดมาได้

ขณะนี้ ธนาคารแต่ละแห่งได้ยกระดับการติดตาม และเฝ้าระวังรายการต้องสงสัย หรือเข้าข่ายผิดปกติอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

เกิดขึ้นกับทุกธนาคารหรือไม่ และเกิดกับบัญชีแบบไหนบ้าง

จากข้อมูลล่าสุด ถึงวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า การสวมรอยผ่านการสุ่มหมายเลขบัตรไม่ได้เกิดกับทุกธนาคาร และรายการที่ผิดปกติมาจากทั้งบัตรเครดิต และบัตรเดบิต (รวมถึงบัตร ATM ที่ทำหน้าที่เป็นบัตรเดบิตได้ด้วย)

ส่วนการสวมรอยทำธุรกรรมในรูปแบบอื่นที่มีมาต่อเนื่อง ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ที่มีกรณีทุจริตลักษณะนี้อยู่แล้ว และพบได้กับบัตรของทุกธนาคาร

ตัดเงินผิดปกติ

กลุ่มมิจฉาชีพเป็นใคร ธปท. และสมาคมธนาคารไทย จะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้

ขณะนี้ทาง สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุเชิงลึกอย่างเร่งด่วน รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ธปท. และสมาคมธนาคารไทย มีแนวทางแก้ไขสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และป้องกันเรื่องนี้ในอนาคตอย่างไร

ระยะเร่งด่วน

ยกระดับความเข้มข้นในการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมทั้งธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำ และที่มีความถี่สูง หากพบธุรกรรมที่ผิดปกติ ธนาคารจะระงับการใช้บัตรทันที และแจ้งลูกค้าในทุกช่องทาง รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ

เพิ่มการแจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการ ตั้งแต่รายการแรกผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ระบบ Mobile banking อีเมล หรือ SMS

ธนาคารยกระดับการตรวจสอบและคืนเงินให้กับลูกค้า หากตรวจพบว่าลูกค้าได้รับผลกระทบ จากการทุจริตกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต

  • กรณีบัตรเดบิต ลูกค้าจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ
  • กรณีบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ลูกค้าไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ และไม่มีการคิดดอกเบี้ย

ระยะปานกลาง

ธปท. และสมาคมธนาคารไทยจะเร่งหารือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร เช่น Visa และ MasterCard เพื่อกำหนดให้มีการใช้การยืนยันตัวตนเพิ่มเติม เช่น OTP กับบัตรเดบิตสำหรับร้านค้าออนไลน์

ตัดเงินผิดปกติ

นอกจากมาตรการของ ธปท. และธนาคารต่าง ๆ แล้ว ประชาชนจะร่วมตรวจสอบ หรือป้องกันตัวเองได้อย่างไร ทั้งกับการสุ่มข้อมูลบัตร และการสวมรอยในรูปแบบอื่น ๆ

  • หมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติรีบโทรแจ้งเลขตามเบอร์ติดต่อหลังบัตร
  • ระมัดระวังการผูกบัตรเดบิต และบัตรเครดิต ในการทำธุรกรรม โดยเฉพาะกับร้านค้า เช่น เกมออนไลน์ แพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน
  • สำหรับบางธนาคาร ลูกค้ายังสามารถเปิด/ปิดการใช้งานของบัตร หรือเปลี่ยนแปลงวงเงินการใช้บัตร หรืออายัดบัตรได้ด้วยตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร นอกเหนือจากการติดต่อกับธนาคาร

กรณีที่ไม่มีบัตรเดบิต แต่ถูกเอาเงินออกจากบัญชีไป เกิดขึ้นจากอะไร

ต้องทราบรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการตรวจสอบ ยังไม่พบกรณีไม่มีบัตร และถูกเอาเงินไป

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ อาจลองตรวจสอบเบื้องต้นว่าบัตร ATM ของตนเป็นบัตรเดบิตด้วยหรือไม่ โดยสามารถสังเกตจากการมีสัญลักษณ์ของ Visa หรือ MasterCard หรือคำว่า DEBIT อยู่ หากเป็นบัตรเดบิต ก็อาจเกิดจากการสุ่มเลขที่อธิบายไปได้

Call Center สถาบันการเงิน และ Non-Bank

ตัดเงินผิดปกติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo