Personal Finance

สิ้นเดือนเหมือนจะสิ้นใจ หนี้ท่วมจ่ายไม่ไหว ทำยังไงดี เช็คทางออกที่นี่เลย!!

สิ้นเดือนเหมือนจะสิ้นใจ หนี้ท่วมจ่ายไม่ไหว ทำยังไงดี เมื่อรู้สึกว่ากำลังเป็นหนี้จนจ่ายไม่ไหว ที่นี่มีทางออก พร้อมแนะวิธีการเก็บออม อ่านเลย!!

ใกล้สิ้นเดือนทีไร มีแต่รายจ่าย รู้ตัวอีกทีก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง หนี้ท่วมขนาดนี้จะทำอย่างไรดี? เมื่อรู้สึกว่ากำลังเป็นหนี้จนจ่ายไม่ไหว ธนาคารออมสิน แนะวิธีที่ควรทำในการจัดการหนี้กัน ดังนี้

หนี้ท่วม

วิธีที่ 1 

เจรจาเพื่อประนอมหนี้จากเจ้าหนี้ ซึ่งสามารถขอได้หลายวิธี เช่น

  • ขอปรับ – ลดอัตราดอกเบี้ย
  • ขอลดค่างวดหรือขยายเวลาชำระหนี้
  • ขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้
  • ขอลดค่าธรรมเนียม – ค่าปรับผิดนัดชำระหนี้
  • ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายในระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น

วิธีที่ 2 

รวบหนี้เป็นก้อนเดียว ด้วยการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงิน ข้อดีของวิธีนี้ คือ จ่ายดอกเบี้ยและค่างวดถูกลง รู้ระยะเวลาผ่อนชำระที่ชัดเจน ขยายเวลาในการผ่อนให้ยาวขึ้นได้เท่าที่เราสามารถจ่ายไหว

แนะนำการลงทะเบียนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้รายย่อย ด้วยวิธีการรวมหนี้ คลิกที่นี่

เมื่อเราจัดการภาระหนี้จนเบาลงบ้างแล้ว อย่าลืมสิ่งสำคัญคือการรู้จักวางแผนการใช้จ่าย เพื่อไม่ก่อให้เกิดหนี้ซ้ำ

หนี้ท่วม

พร้อมแนะ 7 วิธีออมเงินง่าย ๆ ดังนี้

1. เก็บก่อนใช้ ได้เปรียบกว่าเห็น ๆ

เงินเดือน 15,000 ให้กันเงินไว้ 1,500 (คิดเป็น 10% จากเงินเดือน) จากนั้น เงินเหลือเท่าไหร่ ค่อยหักลบหนี้สิน และรายจ่ายคงที่ (Fixed Cost) ในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ แล้วจึงเหลือเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน วิธีนี้อาจจะฟังดูโหดร้ายไปสักนิด แต่เชื่อเถอะว่า เราจะมีเงินเก็บที่แน่นอนในทุก ๆ เดือน อย่างน้อย ๆ ก็ได้เดือนละ 1,500 บาท ตกปีหนึ่งก็ได้มา 18,000 บาทแล้วนะ

2. เปิดบัญชีฝากประจำ

การฝากประจำ คือ ต้องฝากเงินในจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน ในระยะเวลาที่กำหนด และเงินจำนวนนี้จะไม่สามารถถอนออกก่อนกำหนดเวลาได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาของการฝากประจำก็มีทั้งแบบระยะสั้น 3 เดือน – 1 ปี และแบบระยะยาว 2-3 ปี ใครที่เป็นคนเก็บเงินไม่ค่อยอยู่ แนะนำให้ลองออมเงินด้วยวิธีนี้ดู ทั้งได้เงินออม ได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ย แถมยังได้ฝึกวินัยในตนเองเพิ่มอีกด้วย

3. หักบัญชีอัตโนมัติ

การตั้งหักบัญชีอัตโนมัติถือเป็นตัวช่วยด้านวินัยอย่างหนึ่ง ให้เราสามารถชำระค่าบริการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและตรงต่อเวลา อย่าง ค่าผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ และค่างวดที่ฝากประจำต่างๆ ซึ่งการที่เราสามารถชำระค่าบริการต่างๆ ได้ตรงเวลา นอกจากจะไม่โดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชำระล่าช้าแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างเครดิตและความน่าเชื่อถือให้กับตัวเราเองอีกด้วย

4. มีเศษเหรียญ ให้หยอดกระปุก

ลองหากระปุกออมสินน่ารัก ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจสักอัน คอยสำรวจกระเป๋าสตางค์ของเราว่า มีเศษเหรียญอยู่บ้างไหม ถ้ามีก็อย่ารีรอ รีบหยอดกระปุกกุ๊กกิ๊กของเราให้เต็มเร็วๆ กันดีกว่า หรือถ้าวันไหนเกิดอยากจะให้โบนัสตัวเอง ก็ลองเพิ่มจากเศษเหรียญเป็นแบงก์ 20 บ้างก็ได้ พอกระปุกเต็มเมื่อไหร่ก็ลองแกะมานับดู เผลอ ๆ ได้มาอีกหลายร้อยโดยไม่รู้ตัวนะเอ้า!

หนี้ท่วม

5. แบงก์ 50 เป็นของต้องห้าม

แบงก์ 50 ค่อนข้างจะเป็น Rare Item เพราะมันมีน้อยกว่าจำนวนแบงก์อื่นๆ ที่เราใช้กัน การที่เราจะเก็บมันไว้โดยไม่ใช้ ก็ไม่น่าจะกระทบกับชีวิตประจำวันของเรามากนัก ดังนั้น ให้มองว่า เจ้าแบงก์สีฟ้านี้เป็นของต้องห้าม หมายถึง “ต้องห้ามนำออกมาใช้เด็ดขาด” นั่นแหละ สะสมเอาไว้หลายใบเข้า มารู้ตัวอีกที เก็บได้เกือบ 1,000 บาทก็มีนะ

6. ช้อปไปเท่าไหร่ ออมคืนเท่านั้น

ข้อนี้เป็นการปรับนิสัยการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของตัวเองได้ดีเลยนะ มองอีกแง่ มันเหมือนกับการ “ยืมเงินตัวเองออกมาใช้ก่อน” แล้วคืนให้ทีหลัง หลักการเดียวกับการยืมเงินเพื่อนเลย เพียงแต่นี่คือเงินตัวเอง ถ้าอยากช้อปปิงมาก ก็ช้อปได้เลย แต่ซื้ออะไรไปเท่าไหร่ จดไว้ แล้วหามาจ่ายคืนทีหลังด้วยนะ แม้จะเป็นเงินตัวเอง ก็ห้ามอ่อนข้อ ทำให้เหมือนเราติดหนี้เพื่อน ต้องรีบใช้คืน อย่าผัดวันประกันพรุ่งเด็ดขาด

7. เงินเหลือเท่ากับออม

สมมติว่า สิ้นเดือนเรามียอดคงเหลือในบัญชีอยู่ 1,530 บาท ให้ย้ายเงินส่วนนี้ไปใส่บัญชีเงินออม อาจจะถอนออกเป็นเลขกลม ๆ เช่น 1,500 บาท ไปเก็บออมไว้ พอขึ้นเดือนใหม่ เงินเดือนเข้ามาอีก 15,000 บาท + ของเก่าคงค้าง 30 บาท รวมเป็น 15,030 บาทเพื่อใช้จ่ายในเดือนนั้น ๆ แล้วเราก็กลับไปใช้เทคนิคตั้งแต่ข้อที่ 1 ไล่ลงมาใหม่ ถือเป็นการบังคับตัวเองให้ใช้จ่ายด้วยวงเงินที่จำกัดเท่า ๆ กันในแต่ละเดือน และลดการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายลงได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo