Personal Finance

‘ฟิโกไฟแนนซ์’ เปิดเพิ่ม 8 แห่งไม่หวั่นโควิด ปล่อยกู้แล้วกว่า 1.2 หมื่นล้าน

ธุรกิจสินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์ เปิดเพิ่ม 8 แห่ง รวม 979 แห่งทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากสุด ปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 5 แสนบัญชี วงเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท จับเงินกู้ผิดกฎหมายได้เกือบ หมื่นราย

นางสาวสภัทร์พร  ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 979 ราย ใน 75 จังหวัด  ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (575 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (159 ราย) ภาคเหนือ (126 ราย) ภาคตะวันออก (67 ราย) และภาคใต้ (52 ราย) ตามลำดับ

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 529,909 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 12,216.13 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 23,053.26 บาทต่อบัญชี ดังนี้

ฟิโกไฟแนนซ์ 1

1. สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์  ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 880 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 841 ราย ใน 74 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (77 ราย) กรุงเทพมหานคร (66 ราย) และขอนแก่น (51 ราย) 

2. สินเชื่อประเภทพิโกพลัส  ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 153 ราย ใน 49 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 3 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 138 ราย ใน45 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (20 ราย) อุดรธานี (9 ราย) อุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร (จังหวัดละ 8 ราย) 

3. ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 191,469 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 4,131.24 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 26,404 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 602.70 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 14.59% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 31,210 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 738.43 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.87% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,352 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2564 จำนวน 146 ราย

ฟิโกไฟแนนซ์

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo