Personal Finance

อย่าลืม! ดอกเบี้ยกู้บ้าน ‘ลดหย่อนภาษีได้’ เปิดเงื่อนไขใช้สิทธิชัด ๆ ที่นี่

ดอกเบี้ยกู้บ้าน ลดหย่อนภาษีได้ สำหรับผู้กู้ซื้อบ้าน รักษาสิทธิ รับเงินคืน อย่าลืมกรอกลดหย่อนภาษี หมวด ค. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย อ่านเงื่อนไข ที่นี่

โค้งสุดท้าย ของการยื่นเสียภาษีเงินได้ ปีภาษี 2563 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งหนึ่งในรายการที่ภาครัฐ ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระด้านภาษีคือ สามารถนำ ดอกเบี้ยกู้บ้าน ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถนำดอกเบี้ยที่ชำระในการผ่อนบ้าน ไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริงและไม่เกิน 100,000 บาท

ดอกเบี้ยกู้บ้าน ลดหย่อนภาษีได้

สำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างการผ่อนบ้าน อาจจะรู้สึกว่าจะต้องมีรายจ่ายอีกก้อน ที่กำลังจะเกิดขึ้น จากการชำระภาษีเงินได้ แต่ช่วงเวลานี้ ดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่จ่ายไปตลอดทั้งปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ กับการผ่อนชำระในแต่ละงวด กำลังจะกลับมาเป็นเงินเข้ากระเป๋าคืน

ทั้งนี้เพราะ กรมสรรพากร กำหนดให้ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่าย ที่สามารถนำมาลดหย่อนเพิ่มเติมได้ แต่การลดหย่อนนี้ทำได้อย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง DDproperty มีเทคนิคลดหย่อนภาษีเงินได้ จากดอกเบี้ยกู้บ้านมาฝาก

ผู้มีเงินได้สามารถจะหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ จากการซื้อที่อยู่อาศัย ได้ตามที่จ่ายจริง โดยในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด.91 จะปรากฎรายการลดหย่อนภาษีอยู่ในหมวด ค. รายการลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย

สำหรับผู้มีเงินได้ จะสามารถนำ ดอกเบี้ยกู้บ้าน ลดหย่อนภาษีได้ ภายใต้เกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

เงื่อนไขด้านสถาบันการเงิน

ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ที่จะสามารถนำมาลดหย่อนได้นั้น จะต้องกู้ยืมมาจากผู้ประกอบกิจการภายในราชอาณาจักร เฉพาะที่กำหนดไว้ ได้แก่ ธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิแอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง นายจ้างที่มีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุน ที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ที่เข้ารับช่วงสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ แทนกองทุนรวมดังกล่าว และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ภาษี ภาษีที่ดิน ๒๑๐๖๒๔ 1

เงื่อนไขด้านวัตถุประสงค์การกู้ยืม

กรมสรรพากร ให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน โดยจะต้องเป็นการกู้เงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเอง หรือบนที่ดินซึ่งตนเองมีสิทธิครอบครอง

เงื่อนไขการจดจำนอง

จะต้องมีการจำนองอาคาร หรือห้องชุด ในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดิน ไว้เป็นการประกันการกู้ยืมเงินนั้น โดยมีระยะเวลาจำนอง ตามระยะเวลาการกู้ยืม

เงื่อนไขอื่น ๆ

การใช้งานอาคาร หรือห้องชุดในอาคาร จะต้องใช้เป็นที่อยู่อาศัย ในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี ในเงื่อนไขนี้ ไม่รวมการที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างไปปฏิบัติงาน ของนายจ้าง ณ ต่างถิ่นเป็นประจำ หรือกรณีที่อาคาร หรือห้องชุดดังกล่าว เกิดอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้ จนไม่อาจใช้อาคาร หรือห้องชุดนั้น เพื่ออยู่อาศัยได้

เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี

กรมสรรพากร กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อ หรือสร้าง เป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ดังนั้น ถ้าหากจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย น้อยกว่า หรือเท่ากับ 100,000 บาท ก็จะสามารถลดหย่อนได้ เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริง แต่ถ้าหากจ่ายดอกเบี้ยไป มากกว่า 100,000 บาท ก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เท่ากับ 100,000 บาท

กรณีที่มีบ้านมากกว่า 1 แห่ง 

ถ้าผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารที่เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนภาษีเกินกว่า 1 แห่ง ให้หักลดหย่อนภาษีได้ทุกแห่ง

กรณีที่ไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ตลอดช่วงเวลาทั้งปีภาษี 

หากเริ่มจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงปลายปี จะหักลดหย่อนภาษีได้แค่ไหน สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ว่ากรณีที่หักลดหย่อนนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม เช่น เริ่มผ่อนบ้านตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปทั้งหมด 40,000 บาท ก็จะสามารถขอลดหย่อนได้เต็มจำนวน 40,000 บาท

หลักฐานในการขอลดหย่อนภาษี

ผู้มีเงินได้ ต้องมีหนังสือรับรอง ตามแบบที่อธิบดีกำหนดจากผู้ให้กู้ยืม เพื่อเป็นหลักฐานว่า ได้มีการจ่ายดอกเบี้ย สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการซื้อ เช่าซื้อ อาคารหรือห้องชุดในอาคาร หรือสร้างที่อยู่อาศัยด้วย

ขั้นตอนการขอลดหย่อน

วิธีการขอลดหย่อนภาษีนั้นง่ายมาก โดยในช่วงปลายปีถึงต้นปี ธนาคารที่ขอสินเชื่อ จะส่งเอกสารที่เรียกว่า หนังสือรับรองดอกเบี้ย มาที่ผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งจะสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน ว่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ผ่อนชำระไปเป็นจำนวนเท่าไร เหลือยอดหนี้เท่าไร และในจำนวนนั้น คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดกี่บาท

ตัวเลขนี้ สามารถนำมากรอกในแบบแสดงรายได้ที่หมวด ค. รายการลดหย่อนและยกเว้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ข้อที่ 11. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หลังจากกรอกข้อมูลและยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ ต่อกรมสรรพากร แล้วก็ควรเก็บหนังสือรับรองดอกเบี้ยนี้ไว้เป็นหลักฐาน เผื่อกรมสรรพากรต้องการเรียกดูในภายหลัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo