Personal Finance

เส้นทางเป็นเศรษฐี!! เปิดเคล็ดลับออมเงินให้งอกเงย ต้องวางแผนยังไง ที่นี่มีคำตอบ

เส้นทางเป็นเศรษฐี!! คนที่เก็บเงินได้เยอะ ๆ วางแผนกันยังไง ทำอย่างไรให้มีเงินเหลือใช้ยามเกษียณ เก็บเงินอย่างไรให้งอกเงย พร้อมเปิดเคล็ดลับเก็บเงินให้อยู่หมัดที่นี่เลย

ใคร ๆ ก็สามารถวางแผนเก็บเงินเยอะ ๆ ได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ ที่ดอกเบี้ยสูง จดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่าย เพื่อติดตามพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง รู้จักนำเงินออม ไปสร้างผลตอบแทน ให้เติบโตด้วยการลงทุน เริ่มต้นวางแผนเกษียณ ให้เร็วที่สุด  และต้องรู้จักควบคุม ความอยากของตัวเอง เพียงแค่นี้อนาคตเศรษฐีก็อยู่ไม่ไกล

ทุกวันนี้ ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แค่ก้าวออกจากบ้าน ก็อาจต้องควักกระเป๋ากันแล้ว ที่สำคัญคนมีอายุยืนยาวขึ้น จึงมีคำถามว่า ถ้าเก็บเงินเดือนละ 10-15% เพื่อเตรียมไว้ใช้ตอนเกษียณ จะเพียงพอหรือไม่?

…หลายคนที่กังวลกับชีวิตหลังเกษียณจึงเก็บเงินเพิ่มเป็นอย่างน้อย ๆ 20% ต่อเดือน…

เงินเดือน 15,000 บาท เก็บ 3,000 บาท

เงินเดือน 20,000 บาท เก็บ 4,000 บาท

เงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 6,000 บาท

เงินเดือน 50,000 บาท เก็บ 10,000 บาท

เส้นทางเป็นเศรษฐี

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายคนตั้งคำถามว่า “ขนาดเก็บ 15% เลือดตายังแทบกระเด็น จะให้เพิ่มมากกว่านี้คงไม่ไหว”

หากดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะยาก แต่ยังมีทาง ถ้าเป็นเช่นนั้น มาดูกันว่าผู้ที่เก็บเงินได้อย่างน้อย 20% ในแต่ละเดือนแล้ว ยังเหลือเงินไปใช้จ่ายกันสบาย ๆ เขามีวิธีการเก็บเงินกันอย่างไร

1. หลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง

หลายคนมีบัตรเครดิต 4-5 ใบ พ่วงด้วยบัตรกดเงินสด อีกหลายใบ และไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไร ก็รูดด้วยบัตรเหล่านี้ จนมีหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ก็จะจ่ายในอัตราขั้นต่ำ ถ้าเดือนไหนไม่มีเงินพอจ่ายหนี้ก็จะใช้วิธีกดเงินสดจากบัตรใบแรก เพื่อจ่ายใบที่สอง ผลที่ตามมาคือ “หนี้ท่วมหัว เจอดอกเบี้ยจนอ่วม”

ดังนั้น ถ้าอยากจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนให้มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ๆ หรือควรมีบัตรเครดิตเพียงแค่ 1-2 ใบ แล้วต้องใช้อย่างมีวินัย ชำระหนี้เต็มจำนวนเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

2. รู้เส้นทางการเงิน

หลายคนไม่รู้ว่าเงินเดือนในแต่ละเดือนหมดไปกับอะไรบ้าง เพราะมักคิดแต่เรื่องใช้จ่าย หากเป็นแบบนี้ก็จะเก็บเงินไม่อยู่ ดังนั้น ถ้าอยากเก็บเงินให้ได้เยอะ ๆ ต้องเริ่มจากจดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่ายประจำวัน

จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลการเงิน เช่น สมุดบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการลงทุน การใช้จ่ายเงิน เพื่อทำให้รู้เส้นทางเงินของตัวเอง เช่น รายได้มาจากไหน เท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน กี่บาท เมื่อบวกลบออกมาแล้วเป็นอย่างไร วิธีการนี้จะทำให้รู้ว่ามีหลายอย่างที่ไม่ควรซื้อ บางคนถึงกับตกใจ ซื้อไปได้อย่างไร!! ซื้อตอนไหน!! ก็ทำให้เกิดอาการเสียดาย

3. รู้จักลงทุน

พอมีเงินเหลือมากขึ้น ต้องนำไปลงทุนเพื่อให้เงินได้ทำงานออกดอกออกผล หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงขึ้นอาจลงทุนกองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น และถ้ารับความเสี่ยงได้สูงมากก็ลงทุนหุ้นโดยตรง ซึ่งทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ต้องศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนตัดสินใจลงทุน

4. คิดถึงชีวิตวัยเกษียณ

เวลาถามคนที่เก็บเงินในแต่ละเดือนได้เยอะ ๆ ว่าเก็บเพื่ออะไร? มักจะได้คำตอบว่า “เก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ” และที่สำคัญส่วนใหญ่เริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่อายุไม่เยอะ เช่น 25 ปี ก็เริ่มเก็บเงินและนำไปลงทุน ขณะเดียวกันก็เก็บเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน RMF ด้วย ดังนั้น หากวางแผนการเงินและจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมก็จะมีเงินใช้เพียงพอตอนเกษียณ

5. ลดความอยาก

คนที่มีเงินเก็บไม่ใช่คนขี้เหนียว แต่เป็นคนรู้จักคุณค่าของเงิน นั่นก็คือ ซื้อในสิ่งที่ควรซื้อ หรือก่อนซื้ออะไรก็จะถามตัวเองว่า “ซื้อแล้ว จะใช้หรือไม่” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็จะเลือกเก็บเงินเอาไว้ ดังนั้น ผู้ที่รู้จักควบคุมความอยากได้ อยากมี จะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนอย่างแน่นอน

อยากมีเส้นทางชีวิตแบบไหน เส้นทางเป็นเศรษฐี หรือ ยาจก …เราเลือกได้ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ควบคุมการใช้จ่ายให้มีเงินเหลือแล้วเร่งสะสมสินทรัพย์ ลงทุนให้เงินเติบโต เพียงแค่นี้อนาคตเศรษฐีแบบที่ฝันก็เป็นไปได้แน่นอน

เส้นทางเป็นเศรษฐี

ที่มา : ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

www.setinvestnow.com

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo