Personal Finance

เปิดเงื่อนไข ‘ออมสิน’ ปล่อยกู้ 1 หมื่นบาท ดอกเบี้ยถูก ไม่ต้องมีหลักประกัน

เปิดเงื่อนไข “ออมสิน” ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.35% ต่อเดือนไม่ต้องมีหลักประกัน ดีเดย์ 13 พ.ค. ใครกู้ได้บ้าง เช็คเลย!!

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 โดยรัฐบาลได้มอบหมายธนาคารออมสินเป็นผู้จัดทำมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ด้วยมาตรการ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้อันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น

โดยคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์ขอ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” ได้แก่

  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  • ผู้ประกอบการรายย่อย
  • ผู้มีรายได้ประจำของหน่วยงานเอกชนที่ได้รับผลกระทบกระทบจากโควิด-19 (ไม่รวมผู้มีรายได้ประจำจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ)
  • มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป

ออมสิน

สำหรับวงเงินสินเชื่อกำหนดให้รายละไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.35% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกันการกู้ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก

สำหรับในระยะแรกของโครงการ เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเริ่มให้บริการแก่ลูกค้าธนาคารที่เปิดใช้แอพฯ MyMo อยู่แล้วก่อนวันที่ 1 พ.ค.2564 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 9 ล้านคน โดยเริ่มจากลูกค้าที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร
  2. นนทบุรี
  3. ปทุมธานี
  4. ชลบุรี
  5. สมุทรปราการ
  6. เชียงใหม่

ทั้งนี้ สามารถยื่นกู้ได้ทางแอพฯ MyMo ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

หลังจากนั้นในระยะต่อไปจึงขยายให้บริการลูกค้าในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ตามด้วยลูกค้ากลุ่มอื่นที่ไม่มีแอพฯ MyMo กำหนดสิ้นสุดระยะเวลาโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

ทั้งนี้ ขอแจ้งย้ำว่าธนาคารให้บริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลทางแอพฯ MyMo เท่านั้น จึงขอแจ้งเตือนโปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างชื่อและโลโก้ธนาคารออมสินติดต่อประชาชนด้วยช่องทางอื่น เช่น LINE หรือแอพพลิเคชันที่ไม่ใช่ MyMo โปรดใช้ความระมัดระวังพิจารณาตรวจสอบจากธนาคารออมสินก่อนทุกครั้ง โดยสามารถติดต่อธนาคารที่ Call Center โทร. 1115 และที่ Facebook : GSB Society

ออมสิน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล โดยระบุว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID – 19 โดยอนุมัติวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตร ที่ได้ผลกระทบจาก COVID – 19

สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้ มีดังนี้

  • ผู้มีรายได้ประจำ
  • ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  • เกษตรกรรายย่อย
  • ลูกจ้างภาคการเกษตร
  • ผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีขึ้นไป
  • ต้องไม่เป็นผู้ที่มีรายได้จากภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ประมาณ 1 ล้านคน โดย ธนาคาร ออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงินแห่งละ 10,000 ล้านบาท รวม 20,000 ล้านบาท เพื่อให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน พร้อมปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี

ทั้งนี้ รัฐบาลจะใช้วงเงินงบประมาณเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs 100% สำหรับ NPLs ที่ไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. รับทราบการขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ในส่วนของเงินต้น จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามความสมัครใจ เพื่อนำเงินงวดที่จะต้องชำระหนี้ ไปใช้เสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงก่อน

โฆษกรัฐบาล ระบุอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ ออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนภายใต้โครงการเราชนะ จำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (สำหรับเดือน ม.ค. – ก.พ. 64) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 33.2 ล้านคน และมีมูลค่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 203,295 ล้านบาท และมาตรการ ม.33 เรารักกัน

รวมทั้งมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2564 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นต้น รวมทั้งมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ซึ่งได้ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo