ทำไมต้องวางแผนภาษี? อัปเดตสิทธิลดหย่อนภาษี 2567 แบบครบจบ เช็กด่วน ก่อนเสียสิทธิ์!!
การวางแผนภาษีเป็นเรื่องที่หลายคนอาจมองว่ายุ่งยากและซับซ้อน แต่หากเข้าใจหลักการพื้นฐานและติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภาษีอย่างสม่ำเสมอ การวางแผนภาษีจะกลายเป็นเรื่องที่จัดการได้ไม่ยาก และยังช่วยให้ประหยัดเงินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
ทำไมต้องวางแผนภาษีทุกปี
หลายคนอาจคิดว่าเมื่อได้วางแผนภาษีไปแล้วครั้งหนึ่ง ก็สามารถใช้แผนนั้นได้ตลอดไป ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะกรมสรรพากรมีการปรับเปลี่ยนมาตรการลดหย่อนภาษีในทุก ๆ ปี ในบางปีอาจมีการยกเลิก ออกใหม่ หรือเพิ่มหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ดังนั้น เพื่อให้การวางแผนภาษีเป็นประโยชน์ในการประหยัดภาษีสูงสุด จึงจำเป็นต้องนำแผนภาษีที่เคยวางไว้ในปีก่อนหน้า มาปัดฝุ่นและปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรการใหม่ในทุก ๆ ปี
มาตรการลดหย่อนภาษีใหม่ปี 2567
ในปี 2567 กรมสรรพากรได้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีใหม่หลายรายการ ดังนั้น เพื่อให้วางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ มาดูกันว่ามีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่น่าสนใจ
1. ค่าลดหย่อนพื้นฐาน
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ จำนวน 10,000 บาท ต่อทุกจำนวน 1,000,000 บาท ที่จ่ายเป็นค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ให้แก่ผู้รับจ้าง (ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่รวมแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และไม่เกินหนึ่งหลัง เฉพาะค่าจ้างตามสัญญาจ้างที่ได้กระทำขึ้น และเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และได้เสียอากรแสตมป์โดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
2. ค่าลดหย่อนการออมและการลงทุน
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 300,000 บาท โดยผู้ใช้สิทธิไม่ต้องซื้อกองทุนต่อเนื่องทุกปี แต่ต้องถือไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ
3. ค่าลดหย่อนพิเศษ
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ Easy E-Receipt (ชื่อเดิม E-Refund) สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ผู้ประกอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบกิจการขายหนังสือ (รวมถึง e-Book) และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่จ่ายจริง (รวม VAT แล้ว) แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ซึ่งผู้ขายหรือผู้ให้บริการได้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ระบุชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการโดยสินค้าทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ อาทิ
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณ อินเทอร์เน็ต
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ส่วนค่าซื้อหนังสือ (รวมถึง e-Book) หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ผู้ขายต้องออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ที่ระบุชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อด้วยเช่นกัน และสินค้า OTOP ที่ลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นสินค้าที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และผู้ขายต้องออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตามมาตรฐานของกรมสรรพากร โดยจะเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้
- ค่าท่องเที่ยวภายในประเทศ สำหรับการท่องเที่ยวเมืองรองสามารถหักค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย และค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม โดยได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการวางแผนภาษี
ปัจจุบัน กรมสรรพากรหันมาให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่สังคมยุคดิจิทัล (Digitalization) โดยมุ่งเน้นการรับและเก็บข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด ดังนั้น สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนบางรายการ กรมสรรพากรกำหนดให้มีการส่งข้อมูลมายังสรรพากรในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอกนิกส์ โดยผู้มีเงินได้ไม่จำเป็นต้องเก็บเอกสารหลักฐานในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป ดังนี้
- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ให้ผู้ให้กู้นำส่งและเปิดเผยข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยต่อกรมสรรพากร
- เบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ให้บริษัทประกันนำส่งและเปิดเผยข้อมูลการจ่ายเบี้ยประกันต่อกรมสรรพากร
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม RMF กองทุนรวม SSF และกองทุนรวม Thai ESG ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ให้บริษัทหลักทรัพย์นำส่งและเปิดเผยข้อมูลการจ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุนต่อกรมสรรพากร
โดยสรุป เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนแต่ละรายการ ต้องไม่ลืมแจ้งธนาคาร บริษัทประกัน หรือบริษัทหลักทรัพย์ (แล้วแต่กรณี) ให้ส่งข้อมูลให้แก่กรมสรรพากรภายในสิ้นปี 2567 ด้วย ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิไม่สามารถนำรายการต่าง ๆ มาเป็นค่าลดหย่อนได้
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ RD Intelligence Center 1161 หรือสืบค้นข้อมูลได้ที่ www.rd.go.th หรือปรึกษาปัญหาเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่สรรพากรในท้องที่ใกล้บ้าน
ที่มา : สุขวรรณ ฤกษ์สมบูรณ์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เช็กลิสต์รายการลดหย่อนภาษี 2567 มีอะไรบ้าง รวมไว้ให้แล้วที่นี่!
- เตรียมพร้อม! ยื่นภาษีออนไลน์ 2567 ฉบับมือใหม่ มีขั้นตอนยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง
- ใกล้สิ้นปีแล้ว วางแผนยื่นภาษีรึยัง? ลิสต์รายการลดหย่อนภาษี 2567 ครบจบที่นี่!
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg