ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 เฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 8.4% เพิ่มสูงสุดในรอบ 15 ปี ชี้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 จากประชาชนทั่วประเทศ 1,300 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน 2567 โดยเมื่อถามถึงการเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 48.1% ไม่เคยเก็บออม ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 22.6% ระบุว่ามีเงินเก็บเพียงพอเป็นสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป ส่วนอีก 16% ระบุว่ามีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน และที่เหลือ 13.3% ระบุว่า มี แต่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน
เมื่อให้เปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 46.3% มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 35% มีรายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย และกลุ่มตัวอย่างอีก 18.7% มีรายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย
นอกจากนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบหนี้กับรายได้ในปี 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.4% ตอบว่าหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้เพิ่ม รองลงมา 32.3% หนี้เพิ่มเท่ากับรายได้เพิ่ม และอีก 21.3% ระบุว่า หนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ 99.7% ตอบว่าครัวเรือนของตัวเองมีหนี้สิน โดยมีเพียง 0.3% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน
สำหรับประเภทหนี้ อันดับ 1 คือ หนี้บัตรเครดิต รองลงมา หนี้ยานพาหนะ, หนี้ส่วนบุคคล, หนี้ที่อยู่อาศัย, หนี้ประกอบธุรกิจ และหนี้การศึกษา
หนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน
ขณะที่การก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 89.9% มีเฉพาะหนี้ในระบบ รองลงมา 39.8% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และอีก 0.3% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ โดยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่ 606,378 บาท มากสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 2552 โดยหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% แยกเป็นหนี้ในระบบ 69.9% และหนี้นอกระบบ 30.1% ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก คือ
- รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
- มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน
- ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น
- ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น
- ล้มเหลวจากการลงทุน
- ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น
- ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น
- ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น
- ค่าเล่าเรียนของบุตร-หลาน
- ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน
โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 71.6% ระบุว่า เคยขาดผ่อนหรือผิดนัดชำระหนี้ มีเพียง 28.4% ที่ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากสุด คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ รายได้ลดลง, สภาพคล่องของครัวเรือนลดลง, ราคาพืชผลเกษตรลดลง, ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ และไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีนี้ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจ เพราะจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทนอาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยา ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ
“อยากให้รัฐบาลชำแหละหนี้ครัวเรือนให้ชัดเจนว่า เป็นการกู้ไปเพื่อทำอะไร ซื้ออะไร ดูว่าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่ และมีคลินิกแก้หนี้ที่ชัดเจน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน เพื่อผลักให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้เพิ่มขึ้น” นายธนวรรธน์ ระบุ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ส.อ.ท.หั่นเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้เหลือ 1.7 ล้านคัน หลังหนี้ครัวเรือนพุ่ง แบงก์เข้มสินเชื่อ
- ‘ม.หอการค้า’ คาดแจกเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง หนุนจีดีพีปีนี้โต 2.7-2.8%
- ‘รองนายกฯ’ ไม่รู้!! จ่ายเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต 20 ก.ย. หรือไม่ รอ ‘รมว.คลัง’ ชี้แจง
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg