Personal Finance

‘นฤมล’ ห่วงหนี้คนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงานพุ่ง ‘เร่งเพิ่มรายได้-จัดสวัสดิการ’ ก่อนติดกับดักความยากจน

“นฤมล” ห่วงหนี้คนรุ่นใหม่ วัยเริ่มทำงานพุ่งสูง ทั้งยังมีสัดส่วนเป็นหนี้เสียสูงสุด แนะหาแนวทางเพิ่มรายได้ จัดสวัสดิการ ก่อนติดกับดักความยากจน

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์  ระบุถึงสาเหตุหลัก ที่ทำให้คนติดกับดักความยากจน คือ

  1. ขาดที่ทำกิน
  2. ขาดทักษะ
  3. ไม่มีงานทำ
  4. มีปัญหาหนี้สิน

หนี้คนรุ่นใหม่

การแก้ปัญหาความยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงต้องแก้ที่ต้นเหตุที่ต่างกันไปในแต่ละคน แต่ละครัวเรือน โดยการให้เงินคนมีรายได้น้อย เป็นเพียงการช่วยให้เขาเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้

จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือตามสาเหตุของความยากจน ช่วยเรื่องที่ทำกิน เติมทักษะในการประกอบอาชีพ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และที่สำคัญ ต้องช่วยให้มีงานทำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่มีนายจ้าง อาจเป็นอาชีพอิสระ หรืออาจเป็นงานที่รับไปทำที่บ้านได้ ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางในการช่วยเพิ่มรายได้

ด้านภาระค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากค่าครองชีพแล้ว ค่าใช้จ่ายอีกส่วนใหญ่ของคนไทย คือ ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่น่าสนใจว่า จากปี 2560 ถึง 2565 สัดส่วนคนไทยที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 30% (20 ล้านครัวเรือน) เป็น 37% (25 ล้านครัวเรือน) ของประชากรไทย หมายความว่า ขณะนี้ คนไทยเกิน 1 ใน 3 มีหนี้ โดยที่ 57% มีหนี้เกินหนึ่งแสนบาท และมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 520,000 บาท เพิ่มขึ้น 2 เท่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ 34% และ 41% ตามลำดับ จึงทำให้สองกลุ่มนี้มีโอกาสสูง ที่จะติดกับดักความยากจน

อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน โดยเกือบ 2 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ได้แก่ หนี้ส่วนบุคคล(39%) และหนี้บัตรเครดิต (29%) โดยมีกลุ่มวัยเริ่มทำงานในสัดส่วนสูงที่สุดของหนี้ที่ไม่สร้างรายได้นี้ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มวัยรุ่นเริ่มทำงาน ยังมีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วยถึง 1 ใน 4

หนี้คนรุ่นใหม่

ดังนั้น หากคนรุ่นใหม่ที่มีหนี้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขแต่เนิ่นๆ จะกลายเป็นกลุ่มที่เสี่ยงติดกับดักความยากจน เพราะประวัติหนี้เสีย จะทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากขึ้นในอนาคต ซึ่งย่อมส่งผลต่อปัญหาอื่นในสังคม และเศรษฐกิจในระยะยาว

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้คนรุ่นใหม่ หนี้เกษตรกร และหนี้ของผู้มีรายได้น้อย ต้องได้รับการจัดการไม่เหมือนกัน เพราะองค์ประกอบและเหตุแห่งการเป็นหนี้นั้นต่างกัน อีกทั้งควรเป็นวิธีการที่ยั่งยืน ไม่ใช่การพักหนี้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพียงเท่านั้น

แต่ต้องพิจารณาเรื่องแนวทางการเพิ่มรายได้ และการจัดสวัสดิการสำหรับสามกลุ่มนี้ให้เหมาะสมมากขึ้น โดยรัฐไม่จำเป็นต้องไปจัดสวัสดิการเองทั้งหมด แต่ร่วมกับเอกชน เช่น คนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน ควรได้รับสวัสดิการช่วยค่าครองชีพในช่วงวัยเริ่มทำงาน โดยให้นายจ้างได้รับส่วนลดภาษีจากรัฐบาล สำหรับสวัสดิการค่าเดินทาง หรือค่าอาหารกลางวัน ที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างที่เป็นนักศึกษาจบใหม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo