Finance

‘ดร.อัครเวช’ ชี้ชัด ‘สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำสำหรับไทย’ เพื่อให้ผ่าน วิกฤติ FED ดูดดอลลาร์

ดร.อัครเวช โชตินฤมล โพสต์เสนอความเห็น ประเทศไทยควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร เพื่อให้ผ่าน วิกฤติ FED ดูดดอลลาร์นี้ไปให้ได้

ดร.อัครเวช โชตินฤมล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Arm’s Finance ระบุ”กติกาดอลลาร์ (ตอนที่ 7): DOs and DON’Ts for Thailand” โดยมีเนื้อหาว่า “ไม่มีทางลัดง่ายๆ อย่าโยนภาระให้ธนาคารกลาง หรือหน่วยงานใด จะผ่านวิกฤตินี้ได้ต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ”

ขออนุญาตท่านผู้บริหารประเทศและเศรษฐกิจทุกท่าน แสดงความเห็นส่วนตัวในฐานะประชาชนไทย ที่หวังดีต่อชาติ เสนอแนวคิดว่าประเทศไทยควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร เพื่อให้ผ่านวิกฤติ FED ดูดดอลลาร์นี้ไปให้ได้

1. อย่าเอาทุนสำรองไปแทรกแทรงดอลลาร์ให้อ่อน ครั้งนี้ไม่ใช่บาทอ่อนแต่เป็นภาวะดอลลาร์แข็ง เรากำลังต่อกรกับเจ้ามือที่พิมพ์ดอลลาร์และพันธบัตรได้ไม่อั้น Hedge Funds ที่เคยทุบบาทนั่นเขายังมีหน้าตักจำกัด เรายังเอาไม่อยู่ งานนี้เจ้ามือขนแท่นพิมพ์มาเอง ใครเอาทุนสำรองไปทุบดอลลาร์ ก็เหมือนถือชิป 500 เหรียญ เดินเข้าลาสเวกัสแล้วบอกว่า จะกดเจ้ามือให้ยับ มีแต่คนไม่รู้ประสากับคนเพี๊ยนเท่านั้นที่จะทำแบบนั้น
ผมไม่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเอาทุนสำรองไปสู้กับFED (หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นทำแล้ว เจ็บไปแล้ว)

วิกฤติ FED

2. อย่าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหวังกู้ดอลลาร์เข้าประเทศ หรือเพื่อตรึงบาทกดค่าดอลลาร์ ไทยเครดิตคนละเบอร์กับ USA เหมือนเด็กริมถนนขึ้นดอกเบี้ยเกทับกู้เงินแข่งกับคหบดีที่รวยที่สุดของจังหวัด เด็กที่ทำแบบนั้นคือจนตรอกแบบ ศรีลังกา ลาว อาร์เจนตินา เจ้าหนี้เขาก็อ่านออกแล้วก็ไม่ให้กู้อยู่ดี

ผมยังไม่เห็นประเทศไหนขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำดอลลาร์อ่อนได้เลย ก็ขึ้นกันหลายประเทศแล้วไปไล่ดูได้ ระดับธนาคารกลางยูโร อังกฤษ สวิส ออสเตรเลีย แคนาดา จอดป้ายทั้งหมด FEDพ่อทุกสถาบันครับ
การขึ้นดอกเบี้ยไม่การันตีผลในการตรึงค่าบาท แต่การันตีว่าทำร้ายเศรษฐกิจภายในประเทศชัวร์ เราคงไม่ทำอะไรแบบนั้นนะครับ

ผมไม่ได้บอกว่าห้ามขึ้นดอกเบี้ย แต่บอกว่าอย่าขึ้นเพราะมุ่งรักษาค่าบาท ขึ้นได้ครับหากขึ้นเพราะพื้นฐานความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ใช่เห็นFEDขึ้น ขึ้นตามFED

3. เร่งรักษาระดับทุนสำรอง (โดยไม่ใช้ทุนสำรองสู้หรือขึ้นดอกเบี้ย) ด้วยหลักสองประการคือ เร่งหารายได้เข้าประเทศ และ ประหยัดเงินไหลออก หารายได้ให้เน้นไปที่การท่องเที่ยวซึ่งจะได้เป็นกอบเป็นกำและรวดเร็ว งานบริการไม่มีต้นทุนนำเข้า หาได้เท่าไรกำไรเท่านั้น และที่สำคัญรายได้เป็นเงินสดรับทันทีไม่มีเทอมจ่ายยืดเวลาแบบส่งออก การส่งออกสินค้าจะซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย อย่าเข้าใจผิดว่าเราอยู่ในภาวะบาทอ่อน(ก็เรียนแล้วว่าไม่ใช่บาทอ่อน)จนประมาทหวังพึ่งรายได้จากการส่งออก หากแม้จะส่งออกได้ก็ไม่ได้เงินเข้าเท่าไรเพราะสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าสูงเหลือเกิน ส่งออกไปเหลือกำไรเป็นค่าแรงเพียงเล็กน้อย (อ่านขยายความเพิ่มเติมตามลิงค์)

วิกฤติ FED

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=7735591009846251&id=435908123147946
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=7760541594017859&id=435908123147946

การประหยัดเงินไหลออกนี่เรายังไม่ทำกันเลย เห็นเตรียมไปเที่ยวเมืองนอกกันรึ่ม แทนที่จะเก็บ ‘ค่าเหยียบแผ่นดิน’ จากฝรั่งเข้าประเทศซึ่งอาจทำให้เขาเซ็งหนีไปเที่ยวประเทศอื่น ควรพิจารณาเก็บ ‘ค่าจากแผ่นดิน’ กับคนไทยที่ทิ้งเราไปเที่ยวนอกแทน อย่าบ่นอย่าหงุดหงิดกันนักเลย มันถึงเวลาที่ต้องสำนึกป้องกันเหตุอนาคตได้แล้ว

การส่งเสริมสร้างความนิยมไทยผมก็ไม่เห็นทำมานานแล้ว ส่งออกหาเงินได้เท่าไร เอาไปซื้อแบรนด์เนมกันหมด ควรเก็บแวทอัตราสูงพิเศษกับของฟุ่มเฟือยนำเข้า ตั้งแต่ไข่ปลาคาเวียร์ ซิการ์ สุรานอก ไปจนถึงกระเป๋ารองเท้าแบรนด์เนม ควรทำได้แล้ว ทำตอนนี้ก็ช้าไปแล้ว เราส่งเสริมนิยมไทยครั้งสุดท้ายเมื่อไรนะ หากผมจำไม่ผิดสมัยป๋าเปรมตอนผมเด็กๆใช่มั้ย?
อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องพื้นๆ พูดกันไปอย่างนั้นไม่มีใครทำ ระวังทุนสำรองหมดจะเป็นแบบลาว!! เอากันมั้ยแบบนั้น?

และที่สำคัญที่สุดคือต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน น้ำมันเรานำเข้าแทบทั้งหมด ต้องมีมาตรการประหยัด ไม่ใช่เพียงตั้งกองทุนพยุงราคาเรื่อยไป เศรษฐีขับรถเบนซ์ใช้น้ำมันเปลืองกว่าจึงได้รับการพยุงราคามากกว่าวินมอไซหาเช้ากินค่ำ มาตรการแบบนี้ไม่น่าจะเหมาะสม

วิกฤติ FED
ดร.อัครเวช โชตินฤมล

4. กระจายความเสี่ยงออกจากดอลลาร์ ต่อไปการส่งออกนำเข้าต้องเปิดกว้างรับเงินสกุลอื่นให้หลากหลายขึ้น การกู้หนี้นอกก็ควรกู้สกุลอื่นกระจายออกไป ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต้องสร้างโอกาสนี้ด้วยการลดส่วนต่างซื้อ/ขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลอื่นๆให้ทัดเทียมดอลลาร์
การกระจายสกุลเงินนี้อาจใช้เวลาสักหน่อย แต่ต้องเริ่มทำและทำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องส่งเสริมทุกทางให้เกิดขึ้น หากเราพึ่งพายึดตรึงกับสกุลใดสกุลหนึ่งมากไป (ปัจจุบันคือดอลลาร์) เราย่อมหลีกผลกระทบจากนโยบายการเงินของเขาไม่ได้ ต้องตกอยู่ในอาณัติและเป็นทาสการเงินของชาติอื่น
ธนาคารกลางประเทศใดๆควรมีเอกราชไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธนาคารชาติอื่นจนเสียสมดุลและอิสระในการบริหารนโยบายการเงินภายในประเทศตน

5. ‘สิงดอลลาร์’!!! ใช่…สิง ไม่ได้เขียนผิด สิงแบบวิญญาณเข้าร่างทรงนั่นแหละ เรื่องนี้เด็ด ผมได้ทริคจากมังกรจีน เด็ดจริงๆ ขอยกไปตอนหน้าจะขยายความให้ว่า ‘มังกรจีนสิงอินทรีมะกัน’ แก้เกมส์ FED ดูดดอลลาร์เขาทำกันอย่างไร

ดร.อัครเวช โชตินฤมล
29/09/2022
FB Profile: Akaravech Chotinaruemol
FB Page: Arm’s Finance

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight