Finance

แฉกลโกงหลอกลวงทางการเงิน พร้อมวิธีแก้ไขเมื่อสงสัยว่าโดนเข้าแล้ว

ธปท. แฉกลโกงหลายรูปแบบ ใช้เทคโนโลยี เพื่อหลอกลวงทางการเงิน แนะวิธีป้องกัน-แก้ไข เมื่อสงสัยว่าโดนหลอกเข้าแล้ว

ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีข่าวกลโกงรวมถึงการออกมาเตือนภัยในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงมีเหยื่อถูกหลอกลวงเกิดขึ้นต่อเนื่อง

หลอกลวงทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในรายการ แบงก์ชาติชวนคุย เพื่อประมวลช่องทางและรูปแบบการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ที่ปัจจุบันคนร้ายพัฒนารูปแบบ มาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีต้นทุนต่ำและติดตามยากขึ้น

แน่นอนว่า อุปกรณ์ที่ติดตัวคนยุคปัจจุบันคือโทรศัพท์มือถือ จึงไม่แปลกที่คนร้ายจะใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับเหยื่อ ผ่านทาง SMS การโทรคุยโดยตรง หรือผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Facebook Line หรือ Instagram

แฉรูปแบบการหลอกลวงทางการเงิน

. การอ้างตัวเป็นบุคคลสำคัญ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้เหยื่อโอนเงินหรือทำภารกิจต่าง ๆ

2. การขอข้อมูลสำคัญของเหยื่อ เช่น username password OTP เลขบัตรประจำตัวประชาชน

3. การหลอกให้กดลิงก์ไปยังเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้กู้เงินหรือหลอกดูดข้อมูลเหยื่อ

4. การชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์หรือลงทุน โดยใช้ผลประกอบการสูง ๆ มาล่อ

5. การใช้สลิปปลอมหลอกลวงผู้ขาย

กลโกง

จากสถิติการแจ้งความในเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม–14 กรกฎาคม 2565 พบว่า 92.17% ของเรื่องที่รับแจ้งเป็นคดีการหลอกลวงทางด้านการเงิน และการหลอกลวงจำหน่ายสินค้า (รวม 48,189 คดีจากทั้งหมด 52,279 คดี) แต่สามารถอายัดได้ทันเพียงแค่ 3.21% เท่านั้น

เป็นที่สังเกตว่า คนร้ายจะจับจุดอ่อนของเหยื่อในด้านต่าง ๆ มากระตุ้นให้หลงเชื่อ เช่น

  • สภาพคล่องทางการเงิน (หลอกให้กู้)
  • ความโลภ (หลอกให้ลงทุนในหุ้น สกุลเงินดิจิทัล หรือร่วมลงทุนขายสินค้า)
  • ความกลัว (หลอกให้โอนเงิน)
  • ความรัก (romance scam)
  • หลอกคนที่ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ (หลอกให้โอนแต่ไม่ได้สินค้า)

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอก

การระมัดระวังตัวเองเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด ทางที่ดีควรท่องไว้ในใจว่า อย่ากด อย่าโอน อย่าแชร์ข้อมูลให้ใคร แต่หากสงสัยว่ากำลังจะถูกหลอกให้พยายามตั้งสติ อย่าเพิ่งหลงเชื่อโดยง่าย

หากได้รับโทรศัพท์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น DSI กรมสรรพากร กรมศุลกากร กสทช. ไปรษณีย์ หรือ ธปท. ให้วางสายแล้วโทรกลับไปเช็กที่หน่วยงานนั้นโดยตรง

วิธีรับมือกลโกง

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วหน่วยงานเหล่านี้ จะไม่มีนโยบายโทรมาแจ้งให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยืนยันความบริสุทธิ์ หรือโทรมาขอข้อมูลส่วนตัว หากส่งลิงก์มาให้กดกู้เงิน ให้เช็กชื่อบริษัทเงินกู้ที่ได้รับอนุญาตในเว็บไซต์ ธปท. ก่อน

ในกรณีที่มีคนโทรมาอ้างว่าโอนเงินผิด และขอให้โอนกลับไปให้ ต้องจำไว้ว่าอย่าโอนคืนกลับไปเองเด็ดขาด เพราะอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีม้า ที่ไปพัวพันกับการกระทำความผิดได้

ทั้งนี้แนะนำว่า ควรแจ้งให้บุคคลนั้น โทรไปแจ้งที่ธนาคารต้นทางของตัวเอง เพื่อให้ธนาคารดำเนินการตามกระบวนการในการขอเงินคืน หรือเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะมีการโอนเงินเข้ามาผิดมากน้อยแค่ไหน ก็แนะนำให้ไปแจ้งความไว้ก่อนจะดีกว่า

หากพบการกระทำผิดหรือบุคคลน่าสงสัย สามารถแจ้งเบาะแสคนร้ายได้ที่สายด่วน ศคง. โทร. 1213 หรือคอลเซนเตอร์ กสทช. โทร. 1200 หรือสายด่วนของผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใช้งาน

แต่หากโดนหลอกไปแล้ว ให้รวบรวมหลักฐานและรีบแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com โดยลงทะเบียน และกรอกข้อมูลของเหตุการณ์ แล้วรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ และอาจจะต้องเข้าไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจใกล้เคียง เพื่อเร่งอายัดออนไลน์หรือจับกุมต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo