Finance

‘นฤมล’ คาด ‘กนง.’ จ่อขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบปี 65 เหตุ ‘เงินเฟ้อ’ ยังส่อเค้าพุ่ง จี้ดูแล ‘กลุ่มเปราะบาง’

“นฤมล” คาด กนง. มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ หลังขึ้นไปแล้ว 0.25% เหตุ “เงินเฟ้อ” ยังอาจเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ชี้ “กลุ่มเปราะบาง” น่าเป็นห่วง ต้องหามาตรการช่วยเหลือ 

วันนี้ (15 ส.ค.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และเงินเฟ้อ ของไทย โดยระบุว่า

ขึ้นดอกเบี้ย

เมื่อ 10 สิงหาคม กนง.  เห็นชอบปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% เป็น 0.75% เพิ่มขึ้นเพียง 0.25% ตามเสียงส่วนใหญ่ 6 ท่าน อีก 1 ท่านเห็นว่า ควรขึ้น 0.5% เพราะเกรงว่าจะต้องไปเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต

เหตุผลหลักที่ปรับขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมา จึงมีความจําเป็นลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ กนง. เอง ยังเชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินกว่าประเทศอื่นไปมาก อย่างเช่น ธนาคารกลางอังกฤษ คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการที่อัตราเงินเฟ้อ จะลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ถ้าไม่สามารถลดลงเข้ากรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในภายหลัง

อย่างไรก็ดี กนง. ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อ และการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์อย่างใกล้ชิด

ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ต้องขอบคุณธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และสมาคมธนาคาร ที่ต่างออกมาประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยประคองภาระหนี้ของผู้กู้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารทั้งหลายคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปได้ถึงแค่สิ้นปีนี้ นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กนง. อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบในปีนี้เช่นกัน

ขึ้นดอกเบี้ย

ดังนั้น ที่ยังน่าเป็นห่วง คือ กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ความสามารถในการชำระหนี้มีความอ่อนไหว ต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น

รัฐบาลควรจะร่วมกับธนาคาร ดําเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และน่าจะออกมาตรการเสริมเฉพาะจุด เพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย ที่มีรายได้น้อย และผันผวน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เช่น โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ยังแนะนำผู้อ่านที่มีภาระหนี้ ก็ควรหาความรู้เพื่อพิจารณาหาแนวทาง ในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง) ธปท โทร.1213 https://www.1213.or.th/th/Pages/debtrestructuringprojects.aspx

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo