Finance

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้ทิศค่าเงิน อ่อนทำสถิติถ้วนหน้า จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อดอลลาร์มีค่ามากกว่าเงินยูโร

“ดร.กอบศักดิ์” ฉายภาพค่าเงิน “อ่อน” ถ้วนหน้า จับตาเงินยูโรทำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 20 ปี พร้อมวิเคราะห์หากดอลลาร์มีค่ามากกว่ายูโร

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Dr.KOB หลังค่าเงินทำสถิติอ่อนค่าถ้วนหน้า โดยเฉพาะทิศทางของเงินยูโรและดอลลาร์ โดยระบุว่า

ค่าเงิน

อ่อนทำสถิติ กันถ้วนหน้า !!

เมื่อวานนี้ ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงไปแตะระดับ 1.0162 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นการอ่อนลงอย่างรวดเร็วประมาณ 2.3% ในช่วง 2 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินยูโรทำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 20 ปี !!

พร้อมลงไปแตะระดับ 1 ดอลลาร์ = 1 ยูโร

ซึ่งถ้าอ่อนค่าต่อเนื่องลงกว่านั้น ก็จะเป็นอีกรอบที่ เงินดอลลาร์มีค่ามากกว่าเงินยูโร หลังจากที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2000-2002
หากเป็นเช่นนี้ ก็จะมีความหมายมาก

นอกจากจะมีนัยยะต่อ คนที่เก็งกำไรค่าเงินในระยะสั้น แล้ว ค่าเงินยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจด้วย

การที่เงินยูโรลดค่าลงมาที่ 1 ดอลลาร์/ยูโร จากที่เคยสูงสุดประมาณ 1.6 ดอลลาร์/ยูโร เมื่อปี 2008 (ระหว่างที่เศรษฐกิจยุโรปเฟื่องฟูมาก จากการผสานเป็นเนื้อเดียวกับยุโรปตะวันออก ที่เปิดประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ และขยายตัวได้ดีอย่างยิ่ง ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ Subprime)

ค่าบาท 1

หมายความว่า คนอเมริกาสามารถซื้อสินทรัพย์ และสินค้าต่าง ๆ จากยุโรปด้วยเงินที่ลดลงถึง 60%

หากคิดจะซื้อโรงแรม ที่ดิน บริษัท จากที่เคยต้องจ่าย 1.6 พันล้านดอลลาร์ ก็จะลดลงเหลือเพียง 1 พันล้านดอลลาร์ เท่านั้น !!!

สะท้อนถึง ความมั่งคั่งและฐานะของยุโรปที่ลดลง โดยเปรียบเทียบไปในตัว

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะปัจจัยสำคัญ 2-3 ด้าน

(1) ความแตกต่างของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ซึ่งล่าสุด ดูเหมือนจะว่ายุโรปกำลังจะมีปัญหามาก และชะลอตัวลงกว่าคาด จากผลของสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ดัชนี EURO STOXX 50 ซึ่งเป็นดัชนีของบริษัทชั้นนำของยุโรป ที่ได้ลดลงไป 12.5%

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมัน ได้ลดต่ำลงไปกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดไปแล้วประมาณ 10% เช่นกัน

นอกจากนี้ เยอรมันซึ่งเป็นหัวรถจักรสำคัญที่สุดของยุโรป กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดดุลบัญชีการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานในยุโรปที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าของเยอรมันพุ่งสูงขึ้น การส่งออกจึงหดตัวลง 0.5% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก

และยิ่งรัสเซียตอบโต้กลับ โดยลดการส่งก๊าซให้กับยุโรป และอาจจะตัดเลยในอนาคต เศรษฐกิจยุโรปก็อาจจะเข้าสู่ภาวะ Recession ต่อไปได้

(2) ความแตกต่างของนโยบายเฟดและ ECB ซึ่งเฟดมีความชัดเจนมากเรื่องการสู้กับเงินเฟ้อ ขณะที่ ECB ยังรีรอ อ่านสถานการณ์
ยิ่งตลาดแรงงานของสหรัฐยังไปได้ แต่เศรษฐกิจยุโรปอาจจะเกิดปัญหา ความแตกต่างของนโยบายก็จะยิ่งชัดเจนขึ้น

เรื่องนี้ ทำให้เงินไหลจากยุโรปไปสหรัฐ และส่งผลต่อค่าเงินทั้งหมด จึงทำให้เงินยูโรที่ปกติแล้วจะอยู่ระหว่าง 1.1-1.2 ดอลลาร์/ยูโร ด้อยค่าลง

กลายเป็นอีกสกุลเงินที่อ่อนทำสถิติใหม่ ช่วยเพิ่มสีสันให้กับ Economic Turbulence 2022 ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo