Finance

รับข่าวดี!! กองทุนโกยซื้อ ‘BEM’ ดันหุ้นนิวไฮ

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2561 อาจจะเป็นปีของความเลวร้ายของนักลงทุนหลายๆคน เพราะ ดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 10% ถือว่าให้ผลตอบแทนลดลงมากสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 13.66% ปี 2559 ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 19.76% และในปี 2558 ดัชนีปรับลดลง 14%

การที่ดัชนีปรับตัวลดลงแรงน่าจะเกิดจากการขายหุ้นขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติ แต่ในทางกลับกัน พบว่ามีหุ้นขนาดใหญ่หลายๆ บริษัทที่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนภาพรวมดัชนีอย่างน่าสนใจ และเพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี

หุ้นบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  ซึ่งดำเนินธุรกิจก่อสร้าง และบริหารทางพิเศษ บริหารจัดการโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง

การเคลื่อนไหวราคาหุ้นในปี 2561 หุ้น BEM ปรับตัวเพิ่มขึ้น 25% จากระดับราคา 7.70 บาท เพิ่มขึ้น เป็น 9.70 บาท โดยราคาปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 10.40 บาท ราคาต่ำสุดที่ 7 บาท และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8.22 บาท  อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น BEM ทำสถิติสูงสุด ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และควบรวมกับบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BECLในปี 2558

การที่ราคาหุ้นปรับตัวสวนภาพรวมตลาดได้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจาก มีนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศต่างประเทศ พากันเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นจำนวนมาก  จากการสำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้น BEM ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา จะพบว่า กองทุนบัวหลวง  และกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ GIC ได้เพิ่มการถือครองหุ้นจำนวนมาก โดย กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือหุ้น 200.61 ล้านหุ้น คิดเป็น1.31% จากช่วงต้นปีไม่ปรากฏว่าถือครองหุ้น

ขณะที่กองทุนเปิด บัวหลวงทศพล ถือหุ้น 149.54 ล้านหุ้น คิดเป็น0.98% จากเดิมถือหุ้น 142.85 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.93% กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 จำนวน 94.40 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.62% จากเดิม ไม่ปรากฏการถือครองหุ้น ด้านกองทุนต่างประเทศ เช่น GIC PRIVATE LIMITED 100.87 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.66% จากเดิม  90.24 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.59%

ผู้ถือหุ้นBEM ล่าสุด ก.ย.2561 01

นอกจากนี้ยังพบว่า “วิชัย วชิรพงศ์”นักลงทุนรายใหญ่ ยังคงสัดส่วนถือ หุ้น BEM ไว้ที่ 351.69 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.30%

จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า บรรดากองทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายใหญ่ ที่ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นไว้ จะมีมูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นถึง 25% ภายในปีเดียว รวมทั้งหากมีการตัดขายทำกำไรออกมา ก็เท่ากับว่าจะได้รับกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นได้ในทันที

นอกจากนี้จะเห็นว่าในช่วงเดือนธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปแตะระดับนิวไฮ พบว่า “สมบัติ กิจจาลักษณ์” กรรมการผู้จัดการ และ “อัลวิน จี” มีฐานะเป็นคู่สมรสของสุภามาส ตรีวิศวเวทย์”  ได้รายงานขายหุ้นออกมา โดย “สมบัติ”รายงานการขายหุ้น 1 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 9.90 บาท มูลค่ารายการรวม 9.90 ล้านบาท และอีก 1 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10.20 บาท มูลค่ารวม 10.20 ล้านบาท  เป็นการขายที่ใกล้ระดับนิวไฮ

ส่วน“อัลวิน”รายงานขายจำนวน 0.14 ล้านหุ้น ราคา 9.75 บาท คิดเป็น 1.3 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นของผู้บริหาร กลับสวนทางกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อหุ้น BEM และแนะนำซื้อเพราะเชื่อว่ามูลค่าหุ้นจะเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่า การต่ออายุสัปทานทางด่วน และปริมาณการใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงินผ่านไปแล้ว

ผู้ถือหุ้นBEM ล่าสุด ก.ย.2561v2 01

นักวิเคาะห์ บล.ดีบีเอส วิเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่ายังคงคำแนะนำ ซื้อหุ้น BEM เพราะคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์ในระยะยาวกับการขยายเวลาสัมปทานทางด่วนที่ยื่นออกไปถึง 37 ปี ได้ประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการตัดค่าเสื่อมราคา-ตัดจำหน่ายที่ลดลงจากระยะเวลาที่ยืดออกไป และการลงทุนเพิ่มอีก 3.2 หมื่นล้านบาทก็จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว

บล.ทิสโก้ ประเมินว่า ปัจจุบันรายได้ 70% ของ BEM มาจากธุรกิจทางด่วน ซึ่งเราคาดรายได้จากธุรกิจทางด่วนจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนรถใช้ทางด่วน 1.24 ล้านเที่ยวคันต่อวัน และคาดจะเติบโตเล็กน้อยเฉลี่ย 3 ปีที่ 2.9% จากจำนวนรถใช้ทางด่วนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.3% ต่อปี

สำหรับธุรกิจรถไฟฟ้าคาดจะเห็นสัดส่วนรายได้เพิ่มมาอยู่ที่ 40% ในปี 2563 จากปัจจุบัน 30% หลังจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และเพิ่มเป็น 50% ในปี 2580 ตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอานิสงส์การเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รอบเส้นทางรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในปี 2562-2563 เป็นปีแห่งการเติบโตจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ปรับประมาณการผลประกอบการสำหรับ BEM ระหว่างปี ขึ้นเพื่อสะท้อนการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 โดยคาดกำไรสุทธิของ BEM จะเติบโต 3 ปี ที่ 16%

สำหรับปี2562 คาดกำไรสุทธิ 3,606 ล้านบาท เติบโต 36% จากงวดเดียวกันปีก่อน จากการเปิดส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-ท่าพระ ในเดือนกันยายน 2562  ส่วนปี2563 คาดกำไรสุทธิ 4,073 ล้านบาท เติบโต 12.9% จากงวดปี 2562 คาดรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโตอย่างมาก หลังจากเปิดให้บริการครบ ทั้งสายสีน้ำเงินในเดือนมีนาคม 2563  คาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มมาอยู่ที่ 541,845 เที่ยวคนต่อวัน เติบโตเพิ่มขึ้น 54% จากงวดเดียวกันปีก่อน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight