Finance

#ใช้สติป้องกันสตางค์ ‘กสิกรไทย’ ย้ำ ระวัง! มิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากแอป สูญเงินเกลี้ยง แถมหนี้เพิ่ม

ธนาคารกสิกรไทย รณรงค์ต่อเนื่องแคมเปญ #ใช้สติป้องกันสตางค์ ระวังมุกใหม่แก๊งมิจฉาชีพ หลอกล่อลูกค้าโอนเงิน ด้วยการสแกน QR Code ผ่านแอป ของธนาคารต่าง ๆ หรือล้วงข้อมูลในสมาร์ทโฟน

ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารได้รณรงค์ผ่านแคมเปญ “#ใช้สติป้องกันสตางค์” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่เท่าทันกับมิจฉาชีพ ที่พัฒนาหาวิธีหลอกลวงเหยื่อ

ปัจจุบันภัยไซเบอร์ขยายวงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะภัยคุกคามในภาคการเงิน ที่สร้างความเดือดร้อน และความเสียหายให้กับลูกค้าธนาคารต่าง ๆ

กสิกรไทย

ล่าสุด ได้พบการหลอกลวงให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟน โดยคนร้ายจะแจ้งให้เหยื่อสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อรับเงิน ซึ่งโดยปกติแล้ว การสแกน QR Code ด้วยแอปพลิเคชัน จะทำได้สำหรับการจ่ายเงินเท่านั้น ไม่สามารถรับเงินได้

นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีหลอกให้คลิกลิงก์ หรือติดตั้งแอปที่แฝงมัลแวร์ลงบนสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถล้วงข้อมูลสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัญชีธนาคาร  และข้อมูลยืนยันตัวตน จึงขอแจ้งเตือนให้ลูกค้าและประชาชนระวังกลโกงใหม่จากมิจฉาชีพ ที่จะหลอกโอนเงินจากแอป นำเงินออกจากบัญชีจนหมด และอาจเป็นหนี้เพิ่ม

ระวัง! 3 รูปแบบใหม่ที่มิจฉาชีพนำมาใช้

หลอกว่าได้รับเงินคืน

โดยส่ง QR Code ให้สแกน มิจฉาชีพจะปลอมเป็นร้านค้าติดต่อมา โดยอ้างว่าสินค้าหมด และจะคืนเงินให้ โดยให้เหยื่อสแกน QR Code เพื่อรับเงินคืน หรือ แจ้งว่า ได้รับรางวัล หรือเงินช่วยเหลือโดยให้สแกน QR Code เพื่อรับเงินรางวัล

ขอแจ้งเตือนว่า โดยปกติจะไม่สามารถสแกน QR Code เพื่อรับเงินผ่านแอป (มีแต่สแกน QR Code เพื่อจ่ายเงินเท่านั้น) และทุกครั้งที่สแกน QR Code เพื่อจ่ายเงิน ต้องสังเกตเลขที่บัญชีต้นทาง ปลายทาง จำนวนเงิน ก่อนกดยืนยันการโอนเสมอ

หลอกเหยื่อที่ต้องการใช้เงินสดด่วน

ให้ใช้สินเชื่อที่มีอยู่จ่ายค่าสินค้า หรือบริการแทนไปก่อน แล้วจะจ่ายคืนให้เป็นเงินสด มิจฉาชีพจะบอกให้เหยื่อใช้สินเชื่อที่มีอยู่ไปชำระค่าสินค้า หรือบริการให้แทน โดยมีการตกลงว่า จะจ่ายคืนให้เป็นเงินสด แต่สุดท้ายเหยื่อไม่ได้ทั้งเงินคืนแถมเป็นหนี้ธนาคาร

ขอแจ้งเตือนว่า สินเชื่อบุคคลบางประเภท ไม่สามารถนำวงเงินไปเบิกถอนเป็นเงินสดได้ ควรตรวจสอบเงื่อนไขตามที่ตกลงไว้กับธนาคารโดยตรง

กสิกรไทย

หลอกให้คลิกลิงก์ หรือติดตั้งแอปแปลก ๆ

มิจฉาชีพอาจใช้วิธีข่มขู่ หลอกให้เหยื่อกลัว โดยแจ้งว่าเหยื่อเข้าไปพัวพันคดี หรือมีอันตราย จำเป็นต้องติดตั้งแอปบนสมาร์ทโฟน เพื่อใช้ตรวจสอบ มีการส่งลิงก์ หรือ QR Code หรือให้ดาวน์โหลดแอป พร้อมหลอกให้บอกรหัส หรือตัวเลข ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลในสมาร์ทโฟนได้ทั้งหมด

ขอแจ้งเตือนว่า หากไม่เคยติดต่อหน่วยงานที่คนร้ายแอบอ้าง ให้ตัดบทสนทนาทันที อย่าไว้ใจ หรือเชื่อคำพูดที่ลวงให้กระทำการใด ๆ แม้เป็นคนรู้จัก รวมทั้งเช็กหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างเพื่อตรวจสอบข้อมูล

ขอให้โปรดระวัง “ตั้งสติ ไม่เชื่อ ไม่กด ไม่โหลดแอป ไม่สแกน QR เพื่อรับเงิน” สามารถแจ้งเหตุได้ผ่านช่องทางแจ้งความออนไลน์ ศูนย์แจ้งความทางออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือติดต่อ K-Contact Center 02-888-8888

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo