Finance

เกินเป้า!! เก็บภาษี อี-เซอร์วิสเดือนแรก 686 ล้านบาท คาดทั้งปีแตะหมื่นล้าน

กรมสรรพากร เผยจัดเก็บภาษี อี-เซอร์วิส เดือนแรก 686 ล้านบาท แพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศจดทะเบียนแล้ว 106 ราย คาดเต็มปีจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 – 10,000 ล้านบาท

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่ กรมสรรพากร ได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service: VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งมีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่เป็นต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นมา

ภาษี อี-เซอร์วิส

สำหรับเดือนแรก มีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนแล้วจำนวน 106 ราย และมียอดค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 9,800 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในเดือนแรก มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 686 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ถึง 65%

ทั้งนี้ กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (VAT for Electronic Service : VES) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย

แพลตฟอร์มและการบริการ ที่เสียภาษี อี-เซอร์วิส

  • บริการโฆษณาออนไลน์ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 6,067.37 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 424.72 ล้านบาท
  • บริการขายสินค้าออนไลน์ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 2,993.96 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 209.58 ล้านบาท
  • บริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ฯลฯ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์667.07 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 46.70 ล้านบาท
  • บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 10.97 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.77 ล้านบาท
  • บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ 68.78 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.81 ล้านบาท
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ 1
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

กฎหมายภาษี e-Service เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย ที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกัน ไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากภาษีนี้ จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย อีกทั้งจะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า หล้งจากเก็บรายได้ทะลุเป้าในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของการชำระภาษี ทำให้คาดว่าทั้งปีกรมสรรพากรน่าจะสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศประมาณ 8,000 – 10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo