Finance

คาดเฟดคงดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 27-28 ก.ค.นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 .. นี้

เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และจำนวนคนว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าในช่วงก่อนโควิด-19 อย่างมาก แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 850,000 ตำแหน่ง

เฟด

อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. กลับปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 5.9% เนื่องจากมีคนกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหางานเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานสัปดาห์ล่าสุด (ณ วันที่ 17 ก.ค. 2564) เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 419,000 ราย ทั้งนี้ จำนวนคนว่างงาน ณ เดือนมิ.ย. 2564 อยู่ที่ราว 9.5 ล้านคน สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 (ณ เดือน ก.พ. 2563) เกือบ 4 ล้านคน

ในขณะที่ อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานเดือนมิ.ย. 2564 อยู่ที่ 62.1% เมื่อเทียบกับระดับ 63.3% ในเดือนก.พ. 2563  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีคนบางส่วนที่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะหางานหลังพยายามหางานมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ถูกนับว่าเป็นกำลังแรงงานและผู้ว่างงาน ทำให้อัตราการว่างงานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ หากคำนวณอัตราการว่างงานโดยนับรวมคนกลุ่มนี้เข้าในกำลังแรงงานและเป็นผู้ว่างงาน และยึดอัตราการมีส่วนรวมในกำลังแรงงานเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 อัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. 2564 จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.6% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงห่างไกลจากระดับก่อนโควิด-19 อย่างมาก ส่งผลให้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกยาวนานกว่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ตามเป้าหมายของเฟด 

ธนาคารกลางสหรัฐเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าจะยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จากข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนมิ.ย. 2564 ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) เร่งตัวสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ 5.4% YoY

ขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มสูงขึ้น 4.5% YoY ซึ่งเป็นอัตราการเร่งตัวที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2534

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นถูกขับเคลื่อนมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับการชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up demand) และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain bottlenecks) รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยบางตัวอย่าง Pent-up demand และ Supply chain bottlenecks อาจจะคลี่คลายลงได้ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะไม่คลี่คลายลงในระยะอันใกล้ เนื่องจากหลากหลายปัจจัย เช่น แรงงานส่วนหนึ่งมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสวัสดิการคนว่างงานส่งผลให้แรงงานขาดแรงจูงใจในการหางาน เป็นต้น ซึ่งทิศทางค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้อาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า

แต่คาดว่าน่าจะยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อ และน่าจะยังคงยืนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงเชิงลบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง สหรัฐฯ กลับมาเผชิญจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้าที่มีการแพร่กระจายได้ง่าย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 7 วัน ณ วันที่ 21 ก.ค. 2564 อยู่ที่ 40,456 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 46.3%

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามีสัดส่วนถึง 83.2% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากสัดส่วน 51.7% ในช่วงต้นเดือนก.ค. 2564 ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งนอกจากสายพันธุ์เดลต้า ยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์แลมด้า และสายพันธุ์เอปซีลอน ซึ่งประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่ต่อสายพันธุ์เหล่านี้ยังคงไม่แน่ชัด

นอกจากนี้ อัตราการฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสถานการณ์แพร่ระบาดมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังมีอยู่สูง 

ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้ง ภาคเศรษฐกิจจริงยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ คาดว่าเฟดคงมีท่าทีที่ระมัดระวังและอดทนในการพิจารณาถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะยังคงยืนการเริ่มทำ QE tapering ในต้นปีหน้า และเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 ตามที่ส่งสัญญาณไว้ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย ที่ผ่านมา

หากความเสี่ยงต่างๆ ลดลง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น ตลาดแรงงานเข้าใกล้ระดับการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ราว 4.5% อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นเกินระดับ 2.0% อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาสินทรัพย์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางสหรัฐอาจถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด

สำหรับผลกระทบต่อไทย หากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าตลาดคาด จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยและต้นทุนการกู้ยืมนั้นปรับสูงขึ้นตามไปด้วย

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องคอยติดตามสถานการณ์และพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสมต่อไปในระยะข้างหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo