Finance

คาดเฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.0-0.25% ยังไม่ปรับนโยบายการเงิน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้ ทั้งนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้น

เฟด

ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2551  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็เร่งสูงขึ้นในอัตราที่สูงสุดในรอบ 29 ปีที่ 3.8%

การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการเปิดเมือง (Reopening) การชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up demand) ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain bottlenecks) ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นหลัก โดยปัจจัยบางตัวอย่าง Pent-up demand และ Supply chain bottlenecks คงจะคลี่คลายลงได้ในระยะข้างหน้า

ขณะที่ ปัจจัยบางตัว เช่น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น คงจะยังไม่ลดลง ดังนั้น เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าคงจะปรับตัวลดลงมาได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่น่ากลับไปต่ำเหมือนในช่วงก่อนเกิดโควิด-19

เงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นเพียงชั่วคราวและทยอยปรับลดลงในระยะข้างหน้า อาจยังไม่ส่งผลให้เกิดแรงกดดันเพียงพอที่จะทำให้เฟดจำเป็นต้องรีบถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในระยะอันใกล้ ขณะที่เฟดน่าจะยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งจากตัวเลขตลาดแรงงานที่ออกมาล่าสุด อัตราการว่างงานเดือนพ.ค. 2564 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.8% แต่ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 ที่อยู่ราว 3.5%

ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payrolls) เพิ่มขึ้น 559,000  ตำแหน่งในเดือนพ.ค. 2564 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 671,000 ตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบางอยู่ และอาจจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ตามเป้าหมายของเฟด 

ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมีการแถลงประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งประมาณการ GDP และเงินเฟ้อของเฟดจะบ่งชี้มุมมองของเฟดต่อภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการส่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงขึ้น หรือปรับประมาณการการปรับดอกเบี้ยของเฟด (Fed Dot Plot) ให้มีทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าการแถลงประมาณการครั้งก่อนในเดือนมี.ค. 2564 จะเป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยจะเริ่มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE tapering) ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

ดังนั้น เฟดมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังในการสื่อสาร และหลีกเลี่ยงที่จะส่งสัญญาณการถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่ควร โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งที่จะถึงนี้ เฟดน่าจะยังคงประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงประมาณการ Fed Dot Plot ใกล้เคียงเดิม หรือหากมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงขึ้น

คาดว่าแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวลจะออกมาในทิศทางที่ช่วยลดความกังวลของตลาดเกี่ยวกับการถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังคงจุดยืนด้านนโยบายแบบผ่อนคลายไปจนถึงสิ้นปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่สูง ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดอาจเริ่มทำ QE tapering ในปีหน้า โดยมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจเริ่มส่งสัญญาณการทำ QE tapering อย่างเร็วสุดในการประชุม Jackson Hole ในเดือนส.ค. ที่จะถึงนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เฟดได้ทำการขายคืนพันธบัตรสู่ตลาดเงินผ่านการทำ Reverse Repo เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากอุปสงค์ของ Reverse Repo Facilities พุ่งสูงขึ้น ซึ่งอุปสงค์ของ Reverse Repo Facilities ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยบ่งชี้ว่าตลาดการเงินมีสภาพคล่องอยู่สูง ซึ่งส่งผลให้เฟดเผชิญความท้าทายในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปในระยะข้างหน้า

เนื่องจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีการเร่งเบิกจ่ายเงินกู้ผ่านการดึงเงินออกจากบัญชีเงินสดที่ฝากไว้กับเฟด หรือที่เรียกว่า Treasury General Account (TGA) เพื่อนำเงินออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพื่อลดปริมาณเงินสดในบัญชี TGA ก่อนที่การยกเลิกเพดานหนี้ชั่วคราวจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ก.ค. 2564 โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีเป้าหมายลดปริมาณเงินฝากในบัญชี TGA ให้เหลืออยู่ที่ 4.50 แสนล้านดอลลาร์ฯ ภายในวันที่ 31 ก.ค. 2564 เพื่อรักษาความสามารถในการกู้ยืมเงินในระยะข้างหน้า

ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ปริมาณเงินฝากในบัญชี TGA ยังอยู่ที่ระดับ 6.74 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ดึงเงินสดออกจากบัญชี TGA จะส่งผลให้มีสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และนำมาซึ่งความต้องการในการนำเงินไปพักใน Reverse Repo Facilities ซึ่งได้อัตราผลตอบแทนดีกว่าเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยติดลบ ส่งผลให้การขายคืนพันธบัตรสู่ตลาดการเงินผ่านการทำ Reverse Repo ของเฟดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยอยู่ที่ 5.48 แสนล้านดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2564 ซึ่งการทำ Reverse Repo ของเฟดจะช่วยดึงสภาพคล่องออกจากตลาดการเงิน

อย่างไรก็ดี อุปสงค์ของ Reverse Repo Facilities ที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนนั้นลดลง ท่ามกลางสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งไปกระตุ้นเงินเฟ้อและราคาสินทรัพย์ให้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เฟดจึงอาจเผชิญความท้าทายในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และอาจจำเป็นต้องถอนนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า อีกทั้ง เฟดคงจำเป็นต้องปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มสูงขึ้นในท้ายที่สุด 

สำหรับผลกระทบต่อไทย หากเฟดส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าตลาดคาด จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยและต้นทุนการกู้ยืมนั้นปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องคอยติดตามสถานการณ์และพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสมต่อไปในระยะข้างหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo