Finance

‘KBTG’ ลุยสร้างทีมนักพัฒนา ‘จีน-เวียดนาม’ เสริมแกร่ง ‘เคแบงก์’ ธนาคารดิจิทัลภูมิภาค

“KBTG” สร้างทีมนักพัฒนาใน “จีน-เวียดนาม” เสริมแกร่งให้ “เคแบงก์” สู่ธนาคารดิจิทัลแห่งภูมิภาค พร้อมลุยโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และยกระดับการทำงานทีมนักพัฒนาในไทย ประกาศรับใหม่ปีนี้เพิ่มเป็น 1,900 คน พร้อมส่งบริษัทใหม่ลุย DeFi กรุยทางสู่โลกการเงินแบบกระจายศูนย์กลาง

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจะเข้าสู่จุดหักศอกในปี 2567-2568 ซึ่งเทคโนโลยีจะมีการเทคออฟเร็วขึ้น

จากนั้นในช่วงปี 2571-2573 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังมีโควิดเข้ามาเป็นปัจจัยเร่ง ที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ทุกคนคาดไว้ ดังนั้น องค์กรที่จะอยู่รอดได้ จะต้องปรับตัวให้ทัน

S 74260493

KBTG เป็นองค์กรซึ่งมีภารกิจในการนำเทคโนโลยีสร้างสรรค์บริการดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารกสิกรไทย เป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง ก้าวทันความต้องการของลูกค้า และพร้อมรับทุกกระแสความเปลี่ยนแปลง จึงได้เดินหน้าทรานสฟอร์มองค์กรอย่างต่อเนื่อง

การทรานสฟอร์มเฟสแรก เกิดขึ้นในช่วงปี 2562-2563 เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้างองค์กร โดยทำความเข้าใจความต้องการของพนักงานในเชิงลึก มองพนักงานเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการทำพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีให้ทันสมัย ทั้งด้านข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และแอปพลิเคชันบริการต่าง ๆ ที่มีกว่า 400 รายการ

ต่อมาในปี 2563 ได้เกิด Innovation Runway ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่องค์กรใช้ในการสร้างนวัตกรรมบริการ ด้วยการทำงานแบบ Agile และสร้างความพร้อมของทีมงานที่จะทำงานได้จากทุกที่

การทรานสฟอร์มเฟสสอง ช่วงปี 2564-2566 ที่ KBTG จะกลายเป็นองค์กรที่สามารถขับเคลื่อนการทำงานแบบอัตโนมัติในองค์รวม โดยในปี 2564 ทาง KBTG  จัดตั้งแผนก DevX  ขึ้นมา ช่วยสร้างประสบการณ์ทำงานที่ดีให้แก่นักพัฒนา มีซอฟต์แวร์รองรับการทำงานของนักพัฒนา ช่วยในขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัย การรีวิวโค้ด มีระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทดสอบ ดาวน์โหลดขึ้นคลาวด์ได้คล่องตัวขึ้น

นอกจากนี้ จากการสร้างแพลตฟอร์ม Innovation Runway และความพร้อมด้านบุคลากร Data Scientist พร้อมทั้งฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ KBTG จะพัฒนาสู่การเป็น AI factory สามารถพัฒนาโมเดลได้เร็วขึ้น 12 เท่า จึงสามารถผลิตงานได้ทันความต้องการของตลาด ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

KBTG ยังได้ทำโครงการ Tech Kampus ซึ่ง KBTG ร่วมมือกับ 7 สถาบัน ทำ co-research กับสถาบันเหล่านี้เพื่อออกเป็น deep tech innovation ที่จะได้เห็นตลอดทั้งปี

สำหรับการทรานสฟอร์มสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาคนั้น ปัจจุบัน KBTG มีบริษัทเทคโนโลยีในประเทศจีนภายใต้ชื่อ “K Tech” ซึ่งจะรับพนักงานด้านเทคโนโลยีเพิ่มอีก 80 คน

S 74260491

ส่วนที่เวียดนาม ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจสาขานั้น ทาง KBTG ก็เดินหน้าจัดหาพนักงานด้านเทคโนโลยี ที่มีคุณภาพกว่า 100 คน เข้ามาร่วมงาน โดยจะจัดทีมที่เวียดนามภายในไตรมาส 3 ปีนี้ พร้อมขับเคลื่อนเพื่อการแสวงหาเทคโนโลยี และการพัฒนาบริการดิจิทัลแบงกิ้ง สำหรับธนาคารกสิกรไทย ในการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแบงกิ้งระดับภูมิภาค

เทรนด์เทคโนโลยีที่ KBTG ได้เริ่มเข้าไปสำรวจ และเตรียมความพร้อมแล้ว คือ ระบบการเงิน ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาจัดการแทนตัวกลาง อย่างสถาบันการเงิน (Decentralized Finance หรือ DeFi)

KBTG ได้จัดตั้ง Kubix บริษัทในกลุ่ม KBTG เข้าไปนำร่องการทำ DeFi ด้วยการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้าง ICO Portal ทางเลือกใหม่ในการระดมทุน หรือลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล

การระดมทุนจะดำเนินการโดยการแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบโทเคนดิจิทัล แล้วระดมทุนผ่านการทำ Initial Coin Offering หรือ ICO โดยมี ICO Portal เป็นที่ปรึกษา และผู้จัดการเสนอขายโทเคนดิจิทัล ให้แก่นักลงทุนในตลาดแรก นับเป็นการ decentralize finance แบบที่มีสินทรัพย์รองรับ ซึ่งมีความหมายต่อภาคเศรษฐกิจจริง เป็นทางเลือกให้แก่ธุรกิจในการระดมทุน และเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน สร้างการเข้าถึงทางการเงิน

ทั้งนี้ KBTG เชื่อว่าการเงิน ที่มีศูนย์กลางโดยสถาบันการเงิน หรือ CenFi และ การเงินที่กระจายศูนย์กลาง หรือ DeFi จะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยผู้ให้บริการที่มีความพร้อมที่สุด

นายเรืองโรจน์ กล่าวตอนท้ายว่า KBTG ตั้งเป้าหมายการเป็น บริษัทเทคโนโลยีแห่งภูมิภาคเต็มรูปแบบ ภายในปี 2568 พร้อมรองรับธนาคารกสิกรไทยที่จะขยายสู่ภูมิภาคด้วยแนวทาง asset light และไปแบบ digital first ด้วยความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพบุคลากร การรีสกิล ทักษะด้านภาษา และวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายปี 2564 จะมีพนักงาน KBTG ทั่วภูมิภาค เพิ่มจาก 1,500 คน เป็น 1,900 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo