Finance

เตรียมตัว!! ‘พีอี’ ตลาดหุ้นไทยร่วงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 10 ปี

สถิติตลาดหุ้นไทยย้อนหลัง 10 ปีv2 01

ในเดือนตุลาคม 2561 ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงกว่า 116 จุดคิดเป็นลดลงราว 6.38% จากระดับ 1,760 จุดมาอยู่ที่ 1,644 จุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีเข้ามาต่อเนื่อง โดยดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมากกว่าดัชนีภาพรวม ประกอบด้วย หุ้นกลุ่มมีเดีย ปรับลดลง 9.34% หุ้นกลุ่มพลังงาน ลดลง 8.40% หุ้นกลุ่มพาณิชย์ ลดลง 8.22% หุ้นกลุ่มปิโตรเคมีลดลง 8.18% เป็นต้น

ทั้งนี้จากสำรวจคำแนะนำการลงทุนของโบรกเกอร์ เริ่มมีการประเมินว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยมีอัตราส่วนของราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นหรือ พีอีเรโชต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นระดับราคาที่ถูก และสามารถทยอยซื้อหุ้นถือลงทุนเพื่อรอการฟื้นตัวในอีก 3 – 6 เดือนข้างหน้า

บล.ฟินันเซียไซรัส ประเมินว่า มูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยเริ่มไม่แพง หลังจากการทรุดตัวลงดัชนีหุ้นไทยในรอบ 4 สัปดาห์ติดต่อกันทำให้พีอีเรโชในปี 2561 – 2562 ลดลงเหลือ เพียง 14 – 15 เท่าซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลังอยู่ที่ 16 เท่า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (TIPs) ที่ 18 เท่า ขณะที่อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) ที่ 8 – 10% ต่อปี ทำได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย ส่วนยอดขายสะสมของนักลงทุนต่างชาติใกล้เคียงกลางปี 2548 ทำให้ โอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะมีการปรับลงในเชิงปัจจัยพื้นฐานจึงเริ่มจำกัดแล้ว

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ให้ความเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นในปัจจุบัน สามารถเข้าลงทุน เพื่อหวังผลตอบแทนในระยะกลางถึงยาวได้ โดยระดับค่าพีอีเรโชกลับเข้ามาสู่ช่วงที่ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งดัชนีหุ้นไทยในปัจจุบันซื้อขายด้วยระดับพีอีเรโชล่วงหน้า( Forward PE) ต่ำกว่า 14 เท่า และเป็นระดับที่มีเสถียรภาพมากที่สุดของดัชนีในระยะหลัง

จากสถิติในอดีตบ่งชี้ว่าการลงทุนที่ระดับดังกล่าวสามารถคาดหวังผลตอบแทนเชิงบวกได้ในช่วง 1, 2, 3, 6 เดือนข้างหน้า จึงแนะนำให้นักลงทุนที่สะสมหุ้นไปที่บริเวณดัชนี 1,700 จุด และ 1,680 จุดก่อนหน้านี้สามารถถือหุ้นต่อไปได้ และแนะนำให้นักลงทุนที่ยังคงมีการถือเงินสดในระดับมากกว่าปกติสามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นได้ รวมถึงผู้ที่ต้องการเข้าซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีต่างๆ (LTF/RMF) ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หากมาผนวกกับเหตุการณ์ที่รออยู่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในช่วงนี้ถือเป็นเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการเข้าสะสมหุ้น เนื่องจากคาดว่าตลาดหุ้นในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นจาก 2 ปัจจัยที่อาจเป็นที่สำคัญนั่นก็คือ

1) ผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯที่น่าจะนำมาสู่บทสรุปที่ดี โดยหากพรรคเดโมแครตสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ตามที่ผลโพลประเมินไว้ (70% chance) จะเป็นการถ่วงดุลอำนาจปธน.ทรัมป์จนทำให้จุดยืนที่แข็งกร้าวต่อประเด็นอย่างเช่นสงครามการค้า มีโอกาสที่จะอ่อนโยนลงได้

2) การประชุม FOMC วันที่ 18 – 19 ธันวาคมนี้ ซึ่งประเมินว่ามีโอกาสที่ Dot plots ของ Fed ประจำปี 2562 จะมีการปรับลง จากการขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง หลังแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐปีหน้าเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นจากประเด็นสงครามการค้า

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ หากเกิดขึ้นจริง มีโอกาสที่จะทำให้เงินดอลลาร์และ Bond yield สหรัฐปรับตัวลดลงได้ และส่งผลให้ กระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund flow) มีการไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้น จนส่งผลบวกต่อตลาดทุนและสกุลเงินของประเทศเกิดใหม่อีกครั้งฝ่ายวิจัยประเมินว่าดัชนีหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นไปถึงบริเวณ 1,666 จุด (Forward PE 14 เท่า) เป็นอย่างน้อย และ 1,785 จุด (Forward PE 15 เท่า) ในกรณีดีสุด จึงได้วิเคราะห์และคัดกรองหุ้นที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาดในรอบนี้ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 เป็นสำคัญ เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มนี้มีการปรับฐานลงมามาก ไม่สอดคล้องกับประมาณการกำไรที่ยังคงยืนได้อย่างแข็งแกร่ง

ในมุมมองฝ่ายวิจัย คาดว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่่น่าจะปรับตัวได้ดีกว่าตลาดในช่วงขาขึ้น จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1) เป็นหุ้นที่ถูกปิดสถานะใน Single Stock Futures ลงมาอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีทำจุด  สูงสุดของรอบนี้

2) เป็นหุ้นที่ถูก Short sales สะสมในระดับ 3% ขึ้นไปของปริมาณซื้อขายในกระดานหลัก

3) เป็นหุ้นที่มีการปรับฐานลงมามากกว่าดัชนีหรือมากกว่า 6.6% ในรอบนี้

4) เป็นหุ้นที่มีค่าความผันผวน( Beta) มากกว่า 1

5) เป็นหุ้นที่มี ราคาหุ้นเทียบมูลค่าพื้นฐานปีหน้า (Forward PBV) ปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

6) เป็นหุ้นที่มีราคาเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้นปีหน้า (Forward PE) ปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว

7) เป็นหุ้นที่ถูกปรับเพิ่มประมาณการกำไรประจำปีหน้า ขึ้น ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา

8) เป็นหุ้นที่มี ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend yield) คาดการณ์ประจำปีหน้า สูงกว่าตลาดหรือมากกว่า 3%

อย่างไรก็ตาม  จากการคำนวณของเรา พบว่าไม่มีหุ้นใดผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 8 คุณสมบัติ จะมีมากที่สุดก็คือ 7 คุณสมบัติ นั่นก็คือ BEAUTY ส่วนหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ 6 คุณสมบัติ รองลงมา ได้แก่ BANPU, CBG, MTC, PTTEP, PTTGC, SCB, TRUE สำหรับหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ 5 คุณสมบัติ ได้แก่ GLOBAL, GPSC, IRPC, IVL, TOP ทั้งนี้ นักลงทุนอาจใช้ข้อมูลดังกล่าวประเมินควบคู่ไปกับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท ก่อนที่จะเข้าซื้อหุ้นที่คาดหวังว่าจะมีการปรับตัวขึ้นดีกว่าตลาดในระยะถัดไปนี้

สอดคล้องกับ บล.เออีซี คาดว่า ดัชนีหุ้นไทย มีโอกาสยืนเหนือแนวรับ 1,620 จุด เพื่อตั้งหลักแล้วปรับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,670 จุด ด้วยแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก บวกกับส่วนใหญ่โบรกเกอร์คาดกำไรต่อหุ้น( EPS) ของตลาดหุ้นไทยปีนี้อยู่ที่ 108.13 บาทต่อหุ้นโต 8.5% จากงวดเดียวกันปีก่อน ส่วน EPS ปีหน้าอยู่ที่ 119.04 บาทต่อหุ้นเติบโต 10.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เมื่อคิดเป็นพีอีเรโชปีนี้ ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 15.2 เท่า และปีหน้า 13.8 เท่า ซึ่งถูกกว่าสถิติของพีอีเรโชเฉลี่ย 10 ปีที่ระดับ 15.7 เท่า

ในสภาพที่ตลาดมีแนวโน้มกลับตัว แนะนำหุ้น 2 กลุ่ม โดยประเมินแนวต้านไว้ ดังนี้ กลุ่มหุ้นที่คาดกำไรไตรมาส ปีนี้, ไตรมาส ปีนี้ และปี 2561 – 2562 โตต่อเนื่อง จากงวดเดียวกันของปีก่อนได้แก่ KBANK , TISCO , WHA, BDMS  และ หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลงมากกว่า 10% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และคาดกำไรทั้งปี 2561 – 2562 โตจากงวดเดียวกันของปีก่อนได้แก่ SAWAD, ERW, HANA

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight