Finance

เช็ครายชื่อ ‘หุ้นเด็ด’ ต้องช้อปช่วงดัชนีพักฐาน!!

หุ้นที่โบรกเกอร์แนะนำให้สะสมระหว่างดัชน

ช่วงเดือนตุลาคม 2561 ดัชนีตลาดหุ้นไทยผันผวน ซึ่งได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก และแนวโน้มยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง เพราะมีปัจจัยความเสี่ยงของเงินทุนต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะยังคงปรับฐานไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีปัจจัยพื้นฐานใหม่ในเชิงบวกเข้ามาสนับสนุนให้บรรยากาศการลงทุนมีทิศทางที่ดีขึ้นได้

จากการสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในเดือนตุลาคม 2561 นักลงทุนต่างชาติ มียอดขายสุทธิที่ระดับ 34,070.62 ล้านบาท หากพิจารณาการซื้อขายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบันมียอดขายสุทธิอยู่ที่ 242,944.46 ล้านบาท

ขณะที่โบรกเกอร์ ยังคงแนะนำให้สะสมหุ้นขนาดใหญ่ในเซ็ท 50 ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลในระดับสูง โดย บล.ทรีนีตี้ ได้แนะนำหลักในการเลือกลงทุนช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยพักฐาน ประกอบด้วย หุ้นขนาดใหญ่ในเซ็ท 50 ซึ่งเป็นหุ้นที่มีการปรับตัวลงมามากกว่าดัชนีนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา และหุ้นที่มีค่า Betaหรือ ความผันผวนมากกว่า 1 เมื่อเทียบกับการปรับตัวของดัชนีหุ้น ซึ่งหุ้นที่ฝ่ายวิจัยได้แนะนำให้ซื้อได้ในเชิงพื้นฐาน ซึ่งจากการคัดกรองของล่าสุด พบว่า ได้แก่หุ้น TU, MINT, ROBINS, PTTEP, PTT

ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงไป 3.43% และหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักทรัพยตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 30 อันดับแรกส่วนใหญ่ราคาปรับตัวลง และพบว่า มี 13 หุ้นที่ราคาลดลงต่ำกว่าการปรับตัวของดัชนีโดยรวม ประกอบด้วย

หุ้น PTT ลดลง 5.07% หุ้น PTTEP ลดลง 4.52% หุ้น SCC ลดลง 5.83% หุ้น SCB ลดลง 5.03% หุ้น CPN ลดลง 5.72% หุ้น HMPRO ลดลง 5.70% หุ้น MINT ลดลง 5.49% หุ้น IRPC ลดลง 6.62% หุ้น LH ลดลง 6.96% หุ้น CPF ลดลง 4.55% หุ้น BJC ลดลง 4.20% หุ้น BEM ลดลง 4.60% หุ้น PTTGC ลดลง 4.31%

ขณะที่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยยังแนะนำทยอยซื้อสะสมหุ้น ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินทางลงของดัชนีไว้สองระดับคือกรณีปกติที่ 1,700 – 1,705 (ซึ่งหลุดไปแล้ว) และกรณีเลวร้ายที่ 1,660 – 1,665 (อิงพีอี 15 เท่า) ซึ่งพบว่าที่พีอี 15 เท่าดังกล่าว สามารถรองรับการปรับฐานของดัชนีได้เกือบทุกรอบในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

โดยมีเพียงช่วงปลายปี 2556 ที่ดัชนีหลุดพีอีระดับดังกล่าวชั่วคราว ด้วยเหตุชุมนุมทางการเมืองในช่วงนั้น นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกประเทศที่เป็นบวกมากขึ้นหลายเรื่อง ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดว่าปัจจัยบวกต่างๆจะส่งผลให้หุ้นโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ควรหาหลุมหลบภัยในการลงทุน ได้แก่ หุ้นปันผล ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยอาจพิจารณา เน้นสะสมหุ้นปันผลสูง พื้นฐานดี เมื่อราคาหุ้นย่อตัวลง สำหรับหุ้นใหญ่ เลือกหุ้น KKP (คาดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลระดับ  6.9% และ หุ้น INTUCH (คาดอัตราผลตอบแทนเงินปันผลระดับ 5.6%) ขณะที่หุ้นเล็ก เลือกหุ้น ASK (คาดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 6.7%)

สำหรับ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำว่า กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ เน้นทยอยสะสมเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัว ในกลุ่มที่อิงกับการบริโภคในประเทศ (Domestic Play)  ที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561 โตเด่นกว่ากลุ่ม หรือ หุ้นที่มีมูลค่าพื้นฐาน (Valuation) ปรับลงมาอยู่ในโซนปลอดภัย หรือมีการจ่ายปันผลระดับสูง เพื่อเป็นเบาะรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น  ได้แก่ หุ้น ADVANC, BBL,SCB, BJC,AMATA, SAWAD เป็นต้น

ทางฝั่ง บล.ฟินันเซียไซรัส ประเมินว่า การที่ส่วนต่างผลตอบแทนของดัชนีตลาด( Earning Yield Gap) กว้างขึ้น การทรุดตัวลงของดัชนีหุ้นไทย ทำให้ earning yield gap ของไทยกลับมายืนเหนือ 3% อีกครั้ง ซึ่งมากกว่าของสหรัฐที่ 1.8% อยู่ระดับ 1.2% ถือเป็นส่วนต่างที่ใกล้เคียงจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี โดยถ้าย้อนไปอดีตที่ใกล้สุด earning yield gap ระหว่างไทย-สหรัฐที่ 1.2% เกิดขึ้นเมื่อมิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นปลายรอบการพักฐานของดัชนีหุ้นไทยก่อนจะปรับขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน (ส.ค.-ต.ค.2560)  รวม 140 จุด แม้ความเสี่ยงยังมีอยู่ เพราะตลาดหุ้นสหรัฐเพิ่งเริ่มพักตัว แต่ส่วนต่าง earning yield gap ที่น่าสนใจจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยลงน้อยกว่าหุ้นสหรัฐและภูมิภาค

ด้าน บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ช่วงนี้คาดว่าดัชนีหุ้นไทยอยู่ระหว่างการปรับฐานในกรอบ 1,670 – 1,710 จุด จนกว่าจะเห็นปัจจัยสนับสนุนใหม่จากทั้งต่างประเทศและในประเทศ แนะนำให้ทยอยสะสม หุ้นกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่สนับสนุน และคาด รัฐออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ โดยแนะนำให้สะสม หุ้น CPALL, BJC ส่วนหุ้นกลุ่มก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างเลือกหุ้น TEAMG, STEC, SCCC

นอกจากนี้ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ (ประเทศไทย) ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานดี เมื่อราคาหุ้นปรับลงตามดัชนีและเลือกหุ้นที่มีประเด็นที่น่าสนใจ หุ้นเน้นธุรกิจในประเทศ (Domestic Play) รวมทั้งหุ้นปันผลสูง นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย ระยะนี้คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะซื้อขายอยู่ในกรอบเป็น 1,670 – 1,700 จุด แต่ดัชนีตามพื้นฐานระยะยาว 1 ปี ให้ไว้ที่ 1,860 จุด ที่พีอี 17 หากดัชนีปรับลง แนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อการลงทุนระยะยาวได้

บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ได้แนะนำกลยุทธ์การลงทุน โดยเน้นให้ซื้อขายที่แนวรับ และเลือกเก็งกำไร เมื่อดัชนีอ่อนตัวให้ถือหุ้นที่มี หรือทยอยสะสมหุ้นใหญ่ รวมทั้งสามารถเลือกเก็งกำไรหุ้นขนาดกลาง-เล็ก

สำหรับธีมการลงทุนช่วงนี้เป็นหุ้นใหญ่ และกลุ่มหุ้นเลือกตั้ง BBL, SCB, STEC, CPALL, PTT, PTTEP ส่วนหุ้นเล็กที่น่าสนใจ GUNKUL, PSTC, DTC, EASTW, AEONTS รวมถึง หุ้นกระแสเงินสดมั่นคง-ปันผล CPNREIT, CPN, PSH, AP, SPF*, EA, BCPG

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight