Finance

คาดกำไรธนาคารพาณิชย์ปี 63 ต่ำสุดรอบ 9 ปี จับตาผลกระทบโควิดรอบใหม่

หุ้นกลุ่มธนาคารในช่วงปลายปี 2563 ขยับขึ้น หลังจากร่วงหนักสุด ๆ ในช่วงการะบาดของโควิด-19 ที่คาดการณ์ว่าธุรกิจธนาคารจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง และจะส่งผลต่อรายได้

หุ้นกลุ่มธนาคารยังได้รับแรงหนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อนุมัติให้สามารถจ่ายปันผลได้ จากก่อนหน้านี้ธปท.ห้ามปันผล เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น จนสร้างความเสียหายให้กับระบบการเงิน

แต่หลังจากธปท.อนุมัติให้จ่ายปันผล ทำให้เกิดแรงซื้อเข้ามาในกลุ่มธนาคาร และคาดว่าธุรกิจธนาคารจะฟื้นตัวในปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2563 ความเสี่ยงจากวิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังเพิ่มแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในหลายด้าน

กำไรแบงก์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ จะปิดปี 2563 ที่ระดับ 1.44 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา 

การฟื้นตัวในปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนสูงและขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งหากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 สามารถประคองการเติบโตไว้ได้ที่ 2.6% ตามตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยแล้ว

คาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในไทยปี 2564 มีโอกาสขยับขึ้นประมาณ 3.0-7.0% เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2563 อย่างไรก็ดีโจทย์สำคัญสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 จะยังคงเน้นหนักอยู่ที่การประคองรายได้จากธุรกิจหลักและเร่งจัดการปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ต 

ปี 2564 … ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนยังกดดันรายได้จากธุรกิจหลัก 

แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่สุดมาแล้วแต่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกซึ่งยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่อาจส่งผลทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลักทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

Screen Shot 2564 01 02 at 09.18.34

สินเชื่อเติบโตในกรอบจำกัดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังมีความเสี่ยงจากโควิด-19 รอบใหม่แฝงอยู่ อาจส่งผลทำให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หรือโครงการระยะยาวออกไปก่อน ดังนั้นความต้องการสินเชื่อจากฝั่งผู้ประกอบการในระยะแรก คงจะเน้นไปที่สินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ มากกว่าลักษณะของการขอสินเชื่อใหม่เพื่อขยายการลงทุน ขณะที่สินเชื่อรายย่อยอาจขยายตัวไม่มาก ด้วยข้อจำกัดของภาระหนี้เดิมที่มีอยู่ กอปรกับทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อของระบบธ.. ไทยในปี 2564 อาจเติบโตในกรอบประมาณ 3.0-4.5% ชะลอลงจากที่คาดว่า จะปิดปี 2563 ที่ระดับสูงกว่า 4.5%  

  • รายได้หลักจากดอกเบี้ยชะลอตัวลงตามทิศทางของสินเชื่อ ประกอบกับอัตราผลตอบแทนจากเงินให้สินเชื่อน่าจะมีแนวโน้มชะลอลงเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในที่สุด อย่างไรก็ดีคาดว่า ธนาคารส่วนใหญ่จะยังชะลอการออกแคมเปญ- ไม่เร่งระดมเงินฝาก เพื่อพยายามบริหารจัดการต้นทุนด้านเงินฝาก เพื่อประคองทิศทาง NIM  ให้ทรงตัว หรือให้ชะลอลงในกรอบจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า NIM ในปี 2564 อาจชะลอลงมาที่ 2.65-2.75% จากตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2563 ที่ 2.75%  
  • ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการยังไม่ฟื้นตัวกลับมาด้วยข้อจำกัดของบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ระหว่างหาแนวทางเพิ่มรายได้จากแหล่งอื่น ขึ้นมาทดแทนรายได้ที่หายไปจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรรมไปทำธุรกรรมบนแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมในการทำบัตรและค่าธรรมเนียมรายปีของบัตร ATM และบัตรเดบิต จากภาพดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการอาจหดตัวเล็กน้อยในปี 2564 (กรอบคาดการณ์ที่ -3.0% ถึง +1.0%) ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องฝากความหวังการเติบโตมาที่กลุ่มรายได้ค่าธรรมเนียมซึ่งอาจจะได้รับอานิสงส์จากโอกาสที่เศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2564 โดยเฉพาะหากสามารถควบคุมการระบาดของโควิดรอบใหม่ได้ อาทิ ค่าธรรมเนียมจัดการ บริการที่ปรึกษา และค่าธรรมเนียมนายหน้า เป็นต้น

นโยบายการดูแลคุณภาพหนี้ยังเป็นแบบระมัดระวัง   

  • ในปี 2564 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องรับมือกับโจทย์สำคัญด้านคุณภาพหนี้ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่มีสัญญาณอ่อนแอและฟื้นตัวช้า โดยนอกจากภารกิจในการติดตามดูแลความสามารถในการชำระหนี้ (กลุ่มที่ออกจากโครงการช่วยเหลือในปี 2563) และให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องกับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะยังให้น้ำหนักกับการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ตั้งสำรองฯ) เพื่อรองรับสถานการณ์หนี้เสียที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข  
  • ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ปี 2564 จะยังคงสูงกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เร่งตั้งสำรองฯ ล่วงหน้าไปมากแล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.55% (กรอบ 1.45-1.75%) ชะลอลงจากตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2563 ที่ 1.75% แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.31% ในปี 2560-2562 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPLs ในภาพรวมจะยังไม่นิ่งท่ามกลางสถานการณ์การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดด้านรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี   
  • ภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพอาจขยับขึ้นต่อเนื่อง ตอกย้ำสถานะของ NPLs ซึ่งเป็นเครื่องชี้ตามหลังเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์อาจขยับขึ้นต่อเนื่องไปที่ 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการสิ้นปี 2563 ที่ 3.35% ของสินเชื่อรวม โดยในปี 2564 คาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์เร่งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ในพอร์ต ควบคู่ไปกับการทยอยประเมินจังหวะของการตัดหนี้สูญและขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เพราะคงต้องยอมรับว่า สัญญาณเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เริ่มมีความไม่แน่นอน และแนวโน้มยังขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงและความสามารถในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ 
  • ภาพดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเปราะบางและมีสถานะทางการเงินที่อ่อนไหวตามสภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงคงต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของธปท. ลูกหนี้กลุ่มนี้มีอยู่ราว 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์การชำระหนี้ของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2564 เพราะแม้หลังสิ้นสุดการพักชำระหนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาตรการฯ จะไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือต่อและสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่นั่นก็เป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่  

ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 สามารถประคองอัตราการขยายตัวไว้ได้ที่ระดับ 2.6% ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจบันทึกกำไรสุทธิในปี 2564 ที่ระดับ 1.48-1.54 แสนล้านบาท ขยับขึ้น 3.0-7.0% เมื่อเทียบกับฐานระดับกำไรสุทธิที่ต่ำของปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับมีแรงหนุนจากการชะลอลงของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเร่งกันสำรองฯ ไปมากในปี 2563

นอกจากนี้ในปี 2564 ยังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ในกรณีที่สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และยังไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ด้วยเช่นกัน 

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากความผันแปรของสถานการณ์โควิดระลอกใหม่น่าจะมีผลทำให้โจทย์ความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 มีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าปี 2563 แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์จะยังมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่าเกณฑ์ และมีอัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ในระดับสูงประมาณ 1.4-1.5 เท่า  

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

Avatar photo