Finance

เงินบาทหลุด 30 แข็งค่ามากสุดในรอบ 7 ปี จากกระแสเงินไหลเข้า-ดอลลาร์อ่อน

ค่าเงินบาทปิดตลาดแข็งค่ามากที่สุดในรอบ จากทิศทางค่าเงินดอลลาร์อ่อน เมื่อเทียบกับเงินแทบทุกสกุลทั่วโลก และเงินทุนไหลเข้าเอเชีย รวมถึงไทย ที่เงินไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตร

ค่าเงินบาท/ดอลลาร์ ปิดตลาดที่ 29.86 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดอยู่ที่ 30.02 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งในสัดปาห์หนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตั้งแต่ต้นสัปดาห์

เทรดเดอร์กล่าวว่าค่าเงินบาทเป็นไปตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังคงอัดฉีดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจต่อไป กดดันค่าเงินดอลลาร์

แม้ค่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 23 ธันวาคมนี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิม เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังมีสัญญาณทยอยฟื้นตัว และน่าจะได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและประคองกำลังซื้อของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี จุดจับตาสำคัญจะอยู่ที่ความต่อเนื่องของเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของหลายๆปัจจัย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ และสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

ค่าเงินบาท

ล่าสุด เงินบาทแข็งค่าหลุดแนวสำคัญทางจิตวิทยาที่ 30.00 มาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีครึ่งที่ 29.83 บาทต่อดอลลาร์  หลังรายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Monitoring List ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อประเทศที่สหรัฐ จะติดตามทิศทางนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับไทยนั้น แม้การมีชื่อติดในบัญชี Monitoring List อาจไม่มีผลทางตรงกับการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินในประเทศ แต่แรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทที่เพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว จะกลายเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นสำหรับทางการไทย เพราะเงินบาทที่แข็งค่าและมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจในภาพรวม และอาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างต่ำเป็นเวลานาน

หากสถานการณ์ลากยาวและเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แรงกดดันและความจำเป็นต่อการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

 

Avatar photo