Finance

ไทยติดโผ ประเทศ ‘สหรัฐ’ จับตามอง ‘บิดเบือนค่าเงิน’

 

ไทยติดโผ 1 ใน 3 ประเทศหรือดินแดน ที่ถูกสหรัฐเพิ่มไว้ในรายชื่อ “ที่ต้องถูกจับตามอง” ฐานบิดเบือนค่าเงิน ขณะที่ “เวียดนาม” และ “สวิตเซอร์แลนด์” โดนระบุเป็นประเทศปั่นค่าเงิน 

กระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยรายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงิน โดยระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ และเวียดนาม เป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน ส่วนไทยติดโผ 3 ประเทศที่ถูกเพิ่มในบัญชีเฝ้าจับตา ที่ต้องสงสัยว่า ใช้มาตรการลดค่าเงิน เมื่อเทียบกับดอลลาร์

shutterstock 1767942422

รายงานว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับครึ่งปี ของกระทรวงการคลังสหรัฐ เผยแพร่วานนี้ (16 ธ.ค.) ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์ และเวียดนามแทรกแซงตลาดเงินตรา เพื่อส่งผลกระทบต่อดุลการชำระเงิน ส่วนกรณีของเวียดนามนั้น ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ในการทำการค้าระหว่างประเทศ

นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราคาดหมายกันไว้แล้วว่า กระทรวงการคลังสหรัฐ จะเพิ่มชื่อ 2 ประเทศนี้ในบัญชีประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งการเพิ่มชื่อดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ที่สหรัฐ มีการระบุชื่อประเทศรายใหม่  เป็นประเทศปั่นค่าเงิน

รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ ยังระบุด้วยว่า ประเทศหรือดินแดน ใน “รายชื่อเฝ้าจับตา” ขณะนี้เพิ่มเป็น 10 ประเทศ หรือดินแดนแล้ว โดยมีไต้หวัน, อินเดีย และไทย ถูกบรรจุในรายชื่อนี้ ร่วมกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี, อิตาลี, สิงคโปร์ และมาเลเซีย

ทางด้านธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ออกมาตอบโต้รายงานฉบับดังกล่าว ยืนยันว่า ไม่ได้มีการปั่นค่าเงินแต่อย่างใด และว่า ธนาคารยังจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศต่อไป

ส่วนธนาคารกลางเวียดนาม กล่าวว่า จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สหรัฐ เพื่อให้มั่นใจถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นไปอย่างสมานฉันท์ และยุติธรรม

แถลงการณ์ของแบงก์ชาติเวียดนาม ย้ำด้วยว่า เวียดนามบริหารจัดการนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วยวิธีการที่ควบคุมเงินเฟ้อ สร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจมหภาค และไม่ให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่สหรัฐใช้วัดว่า ประเทศใดบิดเบือนค่าเงินคือ ประเทศนั้นต้องได้เปรียบดุลการค้าทวิภาคีต่อสหรัฐอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์ มีการแทรกแซงการปริวรรตเงินตราเกิน 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทั่วโลกมากกว่า 2% ของจีดีพี

ทั้งเวียดนาม และสวิตเซอร์แลนด์ ต่างเกินเกณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากถึง 5% และ 14% ของจีดีพี ตามลำดับ

นอกจากนี้ เวียดนาม และสวิตเซอร์แลนด์ ยังมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์อีก 2 ข้อ ซึ่งก็คือการมีการค้าเกินดุลกับสหรัฐ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดในการค้าโลกเกินดุลจำนวนมาก ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแต่สินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระแสการลงทุนด้วย

รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุด้วยว่า การเข้าแทรกแซงค่าเงินของเวียดนามนั้น บางส่วนมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้เงินด่อง อ่อนค่าลงมา เพื่อได้เปรียบทางการค้า ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ต้องการทำให้ค่าเงินฟรังก์สวิสอ่อนค่าลง เพื่อป้องกันการปรับดุลการชำระเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo