Finance

เงินนอกทะลัก ดันค่าเงินบาทแข็งรอบ 12 เดือน จ่อหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ ข่าวร้ายส่งออก!

ค่าเงินบาทแข็งค่ามากสุดในรอบเกือบ 1 ปี จากเงินไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตร ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันตลาดหุ้นและตลาดเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับ มองว่าเอเชียจะฟื้นตัวเร็วกว่าภูมิภาคอื่นจากผลกระทบโควิด-19

ค่าเงินบาทในช่วงท้ายตลาด แข็งค่าที่ 30.05 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเปิดตลาดที่ 30.166 บาท/ดอลลาร์ จากเงินไหลเข้า โดยในวันนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นสุทธิ 6,688.08 ล้านบาท

นักวิเคราะห์ กล่าวว่าเงินนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าไทย รวมทั้งในตลาดเอเชีย หลังจากคาดการณ์ว่าประเทศในเอเชียจะฟื้นตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดจากโควิด-19 เร็วกว่าภูมิภาคอื่น

ค่าเงินบาทแข็งค่าอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยในระยะข้างหน้า และจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยเป็นประเทศส่งออก

ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วในช่วงท้ายตลาด ในขณะที่ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-30.30 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.15 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 0.6 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยคาดว่านักลงทุนจะซื้อขายอย่างระมัดระวังในสัปดาห์นี้ ซึ่งตลาดการเงินในประเทศเปิดทำการเพียง 2 วัน

ค่าเงินบาท

จุดสนใจหลักอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 10 ธันวาคม  ซึ่งคาดว่าจะมีมติเพิ่ม QE จำนวน 5 แสนล้านยูโร โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมดังกล่าวสอดคล้องกับการส่งสัญญาณจากอีซีบีในการประชุมเมื่อเดือนตุลาคม  นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามบทสรุป Brexit โดยตลาดคาดว่าสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะบรรลุข้อตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย สะท้อนว่าความเสี่ยงด้านขาลงของเงินปอนด์ยังเปิดกว้างกรณีไม่เกิดดีล

ส่วนปัจจัยอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ ได้แก่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่พุ่งสูงขึ้นมากในสหรัฐฯ และความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงท่ามกลางความหวังในเรื่องวัคซีนและมาตรการด้านการคลัง อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มขาดแรงส่ง ในภาวะเช่นนี้ เราคาดว่าเงินดอลลาร์อาจทรงตัวที่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะชี้แจงมาตรการเพิ่มเติมในการปรับระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและการดูแลเงินบาทในวันที่ 9 ธันวาคม เพื่ออธิบายการปรับสภาพแวดล้อมของตลาด โดยทางการระบุว่าได้ติดตามดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดท่ามกลางการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพฤศจิกายน ลดลง 0.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการติดลบน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.18% อนึ่ง เราคาดว่าการซื้อขายยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังจากท่าทีที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการดูแลค่าเงินบาทของธปท. แม้ว่านับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมเงินบาทแข็งค่าทิศทางเดียวกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ทั้งนี้ เงินวอนเกาหลีใต้ เงินหยวนจีน และเงินบาท ปรับตัวแข็งค่าขึ้นราว 2.0%, 0.7% และ 0.3% ตามลำดับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

Avatar photo