Finance

ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ‘SAK’ ธุรกิจสินเชื่อภูธร เข้าเทรด 8 ธ.ค.นี้

บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หนึ่งในผู้ให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เข้าเทรด 8 ธ.ค. นี้ ด้วยราคา IPO ที่ 3.70 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ 7,755.20 ล้านบาท ใช้ชื่อย่อซื้อขาย “SAK

บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “SAK” ในวันที่ 8 ธันวาคม 2563

SAK เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (สินเชื่อจำนำทะเบียน) และไม่มีหลักประกัน ภายใต้ชื่อ “สินเชื่อศักดิ์สยาม” มายาวนานกว่า 25 ปี มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และมี 519 สาขา ครอบคลุม 38 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

ในปี 2562 บริษัทขยายสู่ธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อเช่าซื้อ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำรงชีพ

SAK มีทุนชำระแล้ว 2,096 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 1,550 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 546 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 163.80 ล้านหุ้น ผู้ลงทุนสถาบัน 245.70 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทและกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท และบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท 136.50 ล้านหุ้น

เสนอขายในวันที่ 26-27 และ 30 พฤศจิกายน 2563 ในราคาหุ้นละ 3.70 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนของบริษัท 2,020.20 ล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 7,755.20 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

ศักดิ์สยามลิสซิ่ง

นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บมจ. ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK) กล่าวว่า SAK เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสริมศักยภาพในการขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ขยายธุรกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคล ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้บางส่วนให้กับสถาบันการเงิน และใช้พัฒนาระบบงานการให้บริการสินเชื่อของบริษัทเงินที่ได้จากการระดมทุนยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ SAK เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับระดับประเทศ และเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทในทุกระดับ รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

SAK มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่

1. กลุ่มครอบครัวบุญสาลี ถือหุ้น 67.06%

2. บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด 7.16%

3. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 0.97%

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากวิธีการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหุ้นสามัญของผู้ลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคา (Book building) คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio :P/E Raito) ที่ 15.40 เท่า โดยคำนวนจากกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติ ซึ่งสะท้อนการปรับปรุงรายการพิเศษ ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ต่อหุ้น หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ (Fully Diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.24 บาท/หุ้น

ทั้งนี้ SAK มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักสำรองตามกฎหมาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

Avatar photo