Finance

‘บีซีไอ’ หนุน ‘กฟภ.’ รัฐวิสาหกิจรายแรก เปิดบริการ ‘eLG on Blockchain’

กฟภ. จับมือธปท.-บีซีไอ เปิดตัวบริการ “eLG on Blockchain” ช่วยลดเวลาดำเนินงานได้ 3 เท่า เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า และคู่ค้า 

​นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มารองรับการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า และคู่ค้าเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ความทันสมัย ตลอดจนความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้อีกด้วย

S 42557466

ความร่วมมือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อการพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบล็อกเชน (eLG on Blockchain) ในครั้งนี้ กฟภ. ได้เริ่มเปิดใช้บริการครั้งแรกในเดือนมีนาคม ด้านการค้ำประกันการใช้ไฟฟ้า ตามด้วยการค้ำประกันงานจัดซื้อจัดจ้างในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกของไทย และเป็นตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาบริการ eLG on Blockchain ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาครวมเศรษฐกิจของประเทศ

กฟภ. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกของไทยที่ใช้บริการ eLG on Blockchain และเป็นต้นแบบองค์กรภาครัฐที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีนี้เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Utility ซึ่งบีซีไอคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 จะมีหน่วยงานที่ใช้บริการ eLG on Blockchain 58 ราย

ทางด้าน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโนบาย ระบบการชำระเงิน และเทคโนโลยี ธปท. เปิดเผยว่า บีซีไอ ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคธนาคาร เพื่อสนับสนุนการทำงานของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน

“โครงการหนังสือค้าประกันอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Letter of Guarantee ” เป็น use case แรก ซึ่งถือเป็นระบบงานแรก ที่นำบล็อกเชนมาใช้กับการจัดการหนังสือค้ำประกัน โดยมีผู้เข้าร่วมใช้งานระบบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมให้บริการแล้ว 17 ราย ผู้รับผลประโยชน์ ที่เป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศ และบริษัทในเครือกว่า 50 บริษัท และสำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกของประเทศไทย ที่ผู้รับผลประโยชน์เป็นภาครัฐ

นอกจากนี้ จะยังมีผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นภาครัฐเข้าร่วมเพิ่มขึ้นในปลายปีนี้  ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการทดสอบนวัตกรรมใน Regulatory Sandbox ของธปท. ซึ่งจะมีการติดตามผลการทดสอบ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

ธปท. มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคการเงิน พัฒนานวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิด และการกำหนดมาตรฐานที่สำคัญร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้งานแต่ละรายสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน ก่อให้เกิดการแบ่งปันแนวคิด และองค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน มีนวัตกรรมรองรับรูปแบบบริการที่หลากหลาย ก่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างกว้างขวาง มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย

ขณะที่ นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ ประธานกรรมการ บีซีไอ เปิดเผยว่า บีซีไอเป็นผู้ให้บริการ eLG on Blockchain แก่ กฟภ. รัฐวิสาหกิจรายแรกที่สามารถเชื่อมต่อบริการ eLG on Blockchain ได้ ซึ่งช่วยให้ กฟภ. ลดเวลาการดำเนินงานได้กว่า 3 เท่า ลดต้นทุนองค์กรในส่วนของการจัดการเอกสาร และจำนวนพนักงานที่ต้องจัดการงานด้านนี้ เพื่อไปเพิ่มคุณค่างานด้านอื่น เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าและคู่ค้า ตลอดจนเพิ่มความถูกต้องแม่นยำที่ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด หรือการปลอมแปลงเอกสาร

ปัจจุบัน บีซีไอ มีผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 48 ราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 58 รายภายในสิ้นปี 2563 นี้

eLG on Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้องค์กรมีการจัดการที่ดี และจะช่วยผลักดันให้ กฟภ.ก้าวสู่การเป็นองค์กร Digital Utility ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันทั้ง กฟภ. และบีซีไอ ยังมีแผนความร่วมมือการพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อเทคโนโลยีบล็อกเชน กับงานหนังสือค้ำประกันให้กับหน่วยงานอื่นของ กฟภ. ด้วย เช่น PEA Fiber โดยบีซีไอวางเป้าหมายขยายการให้บริการ ไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพิ่มเป็น 200 รายภายในปี 2564

S 42557468

บีซีไอ ตั้งเป้าเพิ่มการใช้งาน eLG on Blockchain เป็น 50% ของหนังสือค้ำประกันทั้งประเทศ ภายใน 3 ปี จากมูลค่าหนังสือค้ำประกันผ่านระบบสถาบันการเงินไทย ทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 1.35 ล้านล้านบาท จำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับต่อปี

นายสิริวัฒน์ เกียรติเจริญสิน ผู้จัดการใหญ่บีซีไอ เสริมว่า บริการ eLG on Blockchain นี้ จะช่วยให้กฟภ. ลดต้นทุนในการจัดการเอกสารและการดูแลข้อมูล ตลอดจนลดขั้นตอนในการทำงาน ภายใต้ความปลอดภัยระดับโลก โดยเป็นการรับรองหนังสือค้ำประกัน ผ่านเทคโนโลยีคลาวด์ ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งช่วยให้การใช้งานคล่องตัว ปลอดภัย เชื่อถือได้ ป้องกันการปลอมแปลงหนังสือค้ำประกัน รองรับการทำธุรกรรม และสามารถตรวจสอบสถานะได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ สามารถตรวจสอบเอกสารได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100%

นอกจากความสำเร็จของโครงการ eLG on Blockchain แล้ว ทางบริษัทกำลังศึกษาการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน ต่อยอดไปยัง use case อื่น เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมอื่น นอกจากภาคการเงินอีกด้วย

ตัวอย่างสำหรับเรื่องนี้ รวมถึง โครงการที่เพิ่งเปิดไปล่าสุดในวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา คือ โครงการหนังสือรับรองทางการเงิน (Bank Confirmation on Blockchain) ที่เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้ร่วมงานประกอบไปด้วย สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี และสถาบันทางการเงิน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา และลดเวลาในการดำเนินการ

เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ยังมีอุปสรรคในขั้นตอนการขอหนังสือรับรองทางการเงิน ที่ค่อนข้างใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก มีความหลากหลายของเอกสาร และข้อมูลไม่ครบถ้วนต้องดำเนินการขอใหม่ และใช้ระยะเวลาเพิ่มเติมในการตรวจสอบบัญชี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo