Finance

อ่านให้ชัด! ลงทุนอย่างไรให้ยั่งยืน บนภาวะวิกฤติ ‘โควิด-19’

ลงทุน อย่างไรให้ยั่งยืน บนภาวะวิกฤติ “โควิด-19” ชี้ผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ควบคู่กับการพิจารณาผลประกอบการทางการเงิน เพื่อ “การลงทุนอย่างยั่งยืน”

  • การคัดกรองหุ้นด้วยข้อมูลตัวเลขผลประกอบการ และบทวิเคราะห์ทางการเงิน อาจไม่เพียงพอที่จะลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้ แต่ควรพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ควบคู่กันไปด้วย
  • บริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดีจะมีความเสี่ยง มีต้นทุนของเงินทุน ที่ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญด้าน ESG รวมถึงมีความผันผวนน้อยกว่าแม้จะเจอพิษ COVID-19
  • จากสถิติที่ผ่านมา หุ้นที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน สร้างผลตอบแทนได้ในระดับน่าประทับใจ จึงสามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้

    ลงทุน

ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ทุกคนคงพอจะเห็นแล้วว่า โรคระบาดนี้ทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงไปทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่เรื่องการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่การป้องกันโดยใช้มาตรการสร้างระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing ยังส่งผลกระทบต่อการหยุดชะงักด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่

สิ่งที่ตามมาก็คือ การว่างงานจำนวนมหาศาล เพราะหลายธุรกิจต้องหยุด หรือ ชะลอการดำเนินงาน โดยมีการคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบอย่างมาก และคงเป็นไปอย่างนั้นจนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนหรือยาออกมาปราบไวรัสตัวนี้ ซึ่งทางวงการแพทย์เอง ต่างก็คาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 2 ปีต่อจากนี้ แต่ในระหว่างนี้ทุกประเทศก็คงบอบช้ำไปตามๆ กัน

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า โลกหลังวิกฤติ COVID-19 จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างแน่นอน เพราะถ้าสังเกตดูระหว่างวิกฤติ COVID-19 นี้ มีหลายอย่างที่ทำให้ชีวิตผู้คนเปลี่ยนไปและอาจไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นฐาน (Fundamental Changes) ในชีวิตและสังคมของมนุษย์จนหลายๆ คนเชื่อว่า เรากำลังก้าวไปสู่โลกใหม่ (A New World)

ตลาดทุนภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ต้องเลือกลงทุนแบบใด

เพราะว่าวิกฤติครั้งนี้กระทบกับหลายธุรกิจ ทำให้การดำเนินชีวิตของคนทั่วไปเปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนในระยะยาวหลังจากนี้ เช่น การทำกิจกรรมที่ต้องรวมอยู่กับผู้คนเยอะๆ คนก็หลีกเลี่ยงไปพอสมควร ธุรกิจสื่อสาร ผู้คนก็คงต้องใช้เพิ่มขึ้น ธุรกิจอาหารและสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีพมีแนวโน้มที่ดี ธุรกิจประกันภัยและประกันสุขภาพ ก็จะมีคนให้ความสำคัญมากขึ้น

บทพิสูจน์หุ้นยั่งยืนและการลงทุนอย่างยั่งยืน

นักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับข้อมูลการจัดการความเสี่ยงของธุรกิจมากขึ้น เพราะการจัดการความเสี่ยง นับเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในองค์ประกอบกลยุทธ์ความยั่งยืน ที่จะพาธุรกิจรอดพ้นจากวิกฤติเมื่อเกิดเหตุการณ์ยากลำบาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีค่าอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนในอนาคต

ในอดีตผู้ลงทุนอาจพิจารณาข้อมูลตัวเลขผลประกอบการ และบทวิเคราะห์ทางการเงินเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจอย่างคำนึงถึงหลักความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG (Environmental Social Governance) เป็นการบริหารจัดการธุรกิจที่สร้างสมดุลในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่เชื่อมโยงจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต การจัดซื้อ การบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบควบคุมภายใน การขนส่ง และการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภค

ลงทุน

ดังนั้น การบูรณาการเรื่อง ESG เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียให้เพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืนให้กับธุรกิจ

ที่ผ่านมานัก ลงทุน ในไทยอาจจะยังไม่ได้เลือกลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงหลักการ ESG มากนัก ในขณะที่ปัจจุบันผู้ลงทุนสถาบันต่างชาติตัดสินใจเลือกเข้าไปลงทุนมากขึ้นในบริษัทไทยที่มุ่งทำเรื่อง ESG อย่างจริงจัง จากผลการศึกษาต่างๆ มีการระบุว่าบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดีจะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

อีกทั้งต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) ก็ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญด้าน ESG รวมถึงมีความได้เปรียบมากกว่าในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้น แม้ว่าราคาหุ้นของบริษัทที่คำนึงถึงความยั่งยืนอาจมีสภาวะขึ้นลงตามสภาพแวดล้อมของตลาด แต่การลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้จะมีความผันผวนน้อยกว่าแม้จะเจอพิษ COVID-19

จากสถิติมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่อยู่ใน “หุ้นยั่งยืนยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) มีมูลค่าตามราคาตลาด ประมาณ 9.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63% จากมูลค่าตามราคาตลาดทั้งหมด 14.7 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ค. 2563)

และเมื่อดูสถิติย้อนหลังเปรียบเทียบอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ของบริษัทจดทะเบียนใน THSI มี Dividend Yield ประมาณ 5.22% ซึ่งสูงกว่า Dividend Yield ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 3.42% (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ค. 2563)

ทั้งหมดนี้เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า ในสภาวะที่ตลาดมีความผันผวนจากวิกฤติ COVID-19 ผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนได้พิจารณาถึงโอกาสและความเสี่ยงในด้าน ESG ควบคู่กับการพิจารณาผลประกอบการทางการเงิน เพื่อ “การลงทุนอย่างยั่งยืน” ที่จะสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ร่วมกับการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีทางอ้อมจากการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจ โดยให้ความสำคัญเรื่อง ESG

ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
www.set.or.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo