Finance

SET Index เดือน ก.ย. ปิดที่ 1,237.04 จุด ร่วง 5.6% หวั่นเศรษฐกิจฟื้นช้า!

SET Index เดือนกันยายน 2563 ปิดที่ 1,237.04 จุด ร่วง 5.6% จากเดือนก่อน หวั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า การเมืองในประเทศกดดัน ด้าน “บล.เอเซีย พลัส” มองหุ้นไทยเดือน ต.ค. – พ.ย.ปรับขึ้นได้ยาก

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือนกันยายน 2563 ปรับลดลงเล็กน้อย SET Index ปิดที่ 1,237.04 จุด ลดลง 5.6% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 21.7% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 24.7% จากสิ้นปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวดีกว่า SET Index นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์

SET Index

โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก (Non-SET100 และ mai) ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 47,896 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 64,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ในเดือนนี้ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยคิดเป็น 43.51% ของมูลค่าการซื้อขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี ในขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 2.76 แสนล้านบาท โดยผู้ลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ

ขณะเดียวกัน ในเดือนกันยายน 2563 มีกิจกรรม IPO อย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 รวมแล้วมีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN

ด้าน Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 21.4 เท่า และ 20.7 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า และ 18.1 เท่าตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 3.56% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.83%

นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกณฑ์ชอร์ตเซล และเกณฑ์กำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุด และ ต่ำสุดของราคาหลักทรัพย์กลับสู่ปกติในช่วง 8 วันที่ผ่านมา ยังไม่พบปัญหาอะไร ซึ่งการไม่ต่ออายุระยะเวลาการใช้เกณฑ์ชั่วคราวถือว่าเหมาะสมแล้ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นแรงกดดันต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้นเริ่มคลี่คลาย

“ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังมีการติดตามและศึกษาข้อมูลข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาการปรับเกณฑ์ ดูแลการซื้อขายที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป” นายภากร กล่าว

หุ้นไทย696311

ด้าน นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนปรับขึ้นได้ยาก เพราะถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดหดตัว 8.4% และการปรับลดกำไรของบริษัทจดทะเบียนปีนี้คาดอยู่ที่ 613,000 ล้านบาท หรือ 56.65 บาทต่อหุ้น

แต่แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มทยอยดีขึ้น หลังการคลายล็อกดาวน์ ทำให้สำนักวิเคราะห์เริ่มปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีนี้ ขณะที่งบประมาณปี 2564 ไม่ล่าช้าเหมือนที่คาด รวมทั้งการมีมาตรการการคลังช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าการปรับลงของจีดีพีและกำไรบริษัทจดทะเบียนถึงจุดสิ้นสุดแล้ว และปี 2564 กำไร บจ.จะกลับมาขยายตัว 25% อยู่ที่ 785,000 ล้านบาท หรือ 72.51 บาทต่อหุ้น ส่วนจีดีพีปี 2564 ขยายตัว 3-4 %

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยังมีปัจจัยหนุนจากสภาพคล่องที่ล้นระบบ โดยมีเงินฝากถึง 15.5 ล้านล้านบาท และรอเข้ามาในตลาดหุ้น หากปัจจัยที่กดดันเริ่มผ่อนคลาย โดยวางเป้าหมายดัชนีปี 2564 อยู่ที่ 1,450 จุด แต่ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% เงินจะไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น ดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นถึง 1,526 จุด โดยถือเป็นจังหวะสะสมหุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก

กลยุทธ์การลงทุน แนะลงทุนหุ้นขนาดกลาง เล็ก เช่น ASK, DOHOME, INSET, MTC NOBLE และ STGT และให้ระมัดระวังหุ้นที่ราคาเกินมูลค่าพื้นฐานไปมาก เช่น MINT และ LPN และให้กระจายการลงทุนไปต่างประเทศในกลุ่ม New Economy เช่น กลุ่มเทคโนโลยีและสินค้าบริโภค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo