Finance

ตลาดหุ้นส่อร่วงอีก! ‘ทิสโก้’ เตือน 2 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก

ตลาดหุ้น ส่อร่วงอีก! “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้” หวั่นเศรษฐกิจทั่วโลกอาจชะงักอีกรอบ หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรกเริ่มหมดลง หวั่นโควิดระบาดซ้ำ ฉุดหุ้นร่วงแรง

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown หนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นเร็ว ในช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลี ไต้หวัน และ สหรัฐอเมริกา ได้ฟื้นตัวขึ้นมายืนอยู่สูงกว่าเมื่อต้นปี ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ต่อจากนี้ มีความเสี่ยงที่จะหยุดชะงักลง จากสองปัจจัยหลัก คือ

1. ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมา กำลังทยอยหมดลง และ มาตรการกระตุ้นระลอกถัดไปอาจล่าช้าหรือไม่เพียงพอ

2. การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศ ซึ่งอาจทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง โดยหากเศรษฐกิจหยุดชะงักจริงตามที่คาด ก็มีโอกาสที่ ตลาดหุ้น ทั่วโลกจะปรับตัวลงแรงอีกครั้ง

ตลาดหุ้น

หลังจากโควิดแพร่ระบาด ฉุดให้เศรษฐกิจทั่วโลก ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รัฐบาลทั่วโลก จึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การแจกเงินสดให้ประชาชน และ การจ่ายเงินสวัสดิการให้กับผู้ว่างงาน ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่มาตรการต่างๆ จะทยอยหมดลงในเร็วๆ นี้” นายคมศร กล่าว

ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจด้านอื่น นอกเหนือ จากการบริโภค โดยเฉพาะด้านการจ้างงาน ยังคงอ่อนแอ จึงเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระลอกใหม่ที่ออกมา ไม่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะหนุนเศรษฐกิจเหมือนครั้งก่อน รวมทั้ง มีความเสี่ยงที่การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จะล่าช้า เพราะต้องผ่านการอนุมัติตามขั้นตอน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็มีโอกาสที่ ตลาดหุ้น ไทย และ ตลาดหุ้น ทั่วโลกจะปรับลงแรงอีกครั้ง

สำหรับ ตัวอย่างประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยอดค้าปลีก (Real Retail Sales) ในเดือนมิถุนายน ได้ฟื้นตัวกลับมา อยู่ในระดับเดียวกับ เดือนกุมภาพันธ์ ก่อนการระบาด หลังจากที่ลดลงไปต่ำสุดถึง -21%

ในเดือนเมษายน ในช่วงที่มีมาตรการ Lockdown เข้มงวด การบริโภคที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงาน ในสหรัฐ ล่าสุดยังคงอยู่สูงถึง 11% ชี้ให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นของภาครัฐ มีส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และยังมีความจำเป็นในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นระลอกแรกของสหรัฐ กำลังทยอยหมดลง โดยเงินให้เปล่าจำนวน 1,200 ดอลลาร์ ต่อคน ซึ่งเป็นการจ่ายครั้งเดียว ได้มีการเบิกจ่ายไปจนใกล้ครบแล้ว ในขณะที่ เงินสมทบพิเศษ สำหรับผู้ว่างงาน 600 ดอลลาร์ ต่อสัปดาห์ จะหมดอายุสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นความเสี่ยง ที่อาจทำให้ยอดค้าปลีก พลิกกลับมาหดตัวได้อีกครั้ง หากไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติมต่อจากนี้

“รัฐบาลสหรัฐ กำลังเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก่อนที่สภาจะปิดทำการต้นเดือนสิงหาคม (สภาผู้แทนฯ ปิดวันที่ 3 สิงหาคม – 7 กันยายน และวุฒิสภาจะปิดวันที่ 10 สิงหาคม – 7 กันยายน) ซึ่งมีความเสี่ยง ที่สภาจะไม่สามารถตกลงเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทัน ภายในวันดังกล่าว ท่ามกลางความขัดแย้ง ในหลายประเด็น เช่น มูลค่ารวมของมาตรการซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ และประเด็นการรวมการลดภาษี Payrolls tax เข้าไปในมาตรการ ซึ่งประเด็นขัดแย้งดังกล่าวอาจทำให้การพิจารณามาตรการล่าช้าออกไป” นายคมศรกล่าว

นอกจากนี้ การจ่ายสวัสดิการว่างงานพิเศษ แม้จะถูกต่ออายุโครงการออกไป แต่สวัสดิการที่ให้ก็มีแนวโน้มลดลงจากเดิมเนื่องจากหลายฝ่ายเห็นว่าสวัสดิการพิเศษจำนวน 600 ดอลลาร์ ต่อสัปดาห์ เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าค่าจ้างปกติจนอาจเป็นแรงจูงใจให้เกิดการว่างงานโดยสมัครใจ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ที่มีส่วนสำคัญในประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงที่ผ่านมากำลังจะหมดอายุลงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ในขณะที่มาตรการระลอกสอง ยังไม่มีความชัดเจน และอาจมีขนาดเล็กลงกว่าระลอกแรก รวมถึงมีความเสี่ยงที่กระบวนการอนุมัติในสภาจะล่าช้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อจากนี้หยุดชะงักลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo