Finance

เปิดเทอมนี้ ต้องจ่ายอะไรบ้าง พ่อแม่เตรียมพร้อมหรือยัง

เปิดเทอมนี้ ต้องจ่ายอะไรบ้าง พ่อแม่หลายบ้านคงกำลังคำนวนกันอย่างหนัก เพราะหลังจากไวรัสโควิด-19 ผ่านช่วงรุนแรงไปแล้ว เด็กๆ ที่ต้องอยู่บ้านกันมาหลายเดือน  ก็ต้องกลับไปโรงเรียนกันแล้ว และก็ถึงเวลาที่พ่อแม่จะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินกันมือเป็นระวิงกับสารพันค่าใช้จ่ายที่ถาโถมเข้ามา

ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาจทำให้บางบ้านต้องคิดหนักสำหรับการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมในปีนี้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ลูกเพิ่งเข้าโรงเรียนเป็นปีแรก อาจจะยังคิดไม่ถึงว่า นอกจากค่าเทอม ชุดนักเรียน หรืออุปกรณ์การเรียนแล้ว เปิดเทอมนี้ ต้องจ่ายอะไรบ้าง

เปิดเทอมนี้ ต้องจ่ายอะไรบ้าง

การเตรียมตัวให้พร้อมไว้ล่วงหน้า ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุด  เพื่อไม่ให้ต้องตกใจไปกับค่าใช้จ่ายที่อาจจะมาไม่ทันตั้งตัว เพราะหมุนเงินไม่ทัน ลองมาดูกันว่า เงินที่เตรียมไว้นั้นครอบคลุมสำหรับรายจ่ายต่อไปนี้แล้วหรือยัง

  • ค่าเทอม

ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่า โรงเรียนสังกัดรัฐบาลหรือเอกชน ระดับชั้น/แผนกวิชาที่ลูกเรียน และรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียน เช่น โรงเรียนอินเตอร์ฯ ก็ย่อมมีค่าเทอมที่สูงกว่าโรงเรียนทั่วไป

  • ค่าเครื่องแต่งกาย

อีกหนึ่งรายจ่ายหลักที่พร้อมให้คุณพ่อคุณแม่เจอศึกหนักอยู่ไม่น้อย เพราะด้วยวัยของเด็กที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เสื้อ กางเกง กระโปรง ถุงเท้า รองเท้า หรือชุดกีฬาชุดเก่าอาจคับไปแล้ว ยังไงเอาออกมาเช็คกันก่อนที่จะเปิดเทอม เพราะเมื่อต้องซื้อชุดใหม่ อย่าลืมว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการปักชื่อโรงเรียน และชื่อ-นามสกุลของลูกอีกด้วย

  • ค่าอุปกรณ์ต่างๆ

อุปกรณ์ที่ว่านี้รวมตั้งแต่กระเป๋า สมุด หนังสือ เครื่องเขียน อุปกรณ์ศิลปะ กระติกน้ำ กล่องข้าว เป็นรายการปลีกย่อยที่หากเผลอลืมเตรียมไว้ก่อน อาจสร้างความฉุกละหุกให้กับเงินในกระเป๋าของคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่น้อยทีเดียว

เปิดเทอมนี้ ต้องจ่ายอะไรบ้าง

  • ค่าประกัน

พ่อแม่บางคนอาจกังวลในเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของลูก เมื่อต้องไปอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อนเปิดเทอม ก็จะซื้อประกันสุขภาพไว้ เผื่อฉุกเฉินลูกไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาล จะได้ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง

นอกจากนี้ โรงเรียนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีนโยบายให้นักเรียนทุกคนต้องทำประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติม เพราะเด็กๆ มักประสบอุบัติเหตุกันง่าย ก็อาจต้องเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้สำรองไว้ด้วย

  • ค่าเรียนพิเศษ

เป็นค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่หลายคนเต็มใจจะจ่ายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษที่โรงเรียนในตอนเย็น หรือเรียนตามสถาบันกวดวิชาในวันเสาร์อาทิตย์ ยังไม่นับถึงการเรียนภาษาต่างๆ หรือเสริมทักษะด้านกีฬา ดนตรีตามความต้องการของลูก ซึ่งคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดี เพราะอาจสร้างหนี้ได้แบบไม่รู้ตัวเช่นกัน

  • ค่าใช้จ่ายรายเดือนของลูก

ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่ารถตู้รับส่งลูก ซึ่งบางโรงเรียนจะขอให้จ่ายครั้งเดียวเป็นแบบรายเดือนหรือรายเทอม และอย่าลืมว่ายังมีเงินค่าขนมประจำวัน ที่ต้องให้ลูกนำไปใช้ที่โรงเรียนอีกด้วย

  • ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด

เป็นค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่พ่อแม่หลายคนนึกไม่ถึง และไม่ได้ตระเตรียมไว้ตั้งแต่แรก แต่มีผลต่อสภาพคล่องทางการเงินไม่ใช่น้อย เช่น ค่าชมรมผู้ปกครอง ค่า SMS รายเทอม ที่บางโรงเรียนมีไว้แจ้งข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ รวมถึง แจ้งผู้ปกครองกรณีที่นักเรียนเดินทางยังไม่ถึงโรงเรียน ค่าอุดหนุนกิจกรรมการศึกษา ค่าบำรุงห้องสมุด และค่าทัศนศึกษา  เรื่องนี้อาจต้องถามกับโรงเรียนเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้เตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ได้ทันก่อนเปิดเทอม

มาตรดารช่วยเหลือผู้ปกครอง 01 1

 เปิดเทอมนี้ ต้องจ่ายอะไรบ้าง รู้แล้วต้องปรับพฤติกรรม 

พอทราบถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้างนั้น คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจกำลังคิดแล้วว่า เราจะเอาเงินจากไหน ต้องเอาของมีค่าไปจำนำหรือเปล่า ต้องไปกู้เงินมั้ย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่ต้องเตรียมวุ่นวายหาเงินขนาดนั้น เพียงแต่ลองปรับพฤติกรรมบางอย่างของตัวเองและครอบครัว มาดูกันว่าเรากำลังใช้เงินเกินความจำเป็นหรือเปล่า

  • ทำบัญชี 

สิ่งแรกควรทำบัญชี จะได้รู้ว่าเราจ่ายอะไรไปบ้าง หาเวลาว่างมาเขียนบัญชีค่าใช้จ่ายของแต่ละวัน เพื่อะได้รู้ว่าวันนี้ไปซื้ออะไรมาบ้าง ทานอะไรแพงเกินไปรึเปล่า การทำบัญชีจะทำให้คุณเปรียบเทียบได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดูดเงินคุณออกไปมากที่สุด

  • สิ่งที่ทำเป็นประจำ

ต้องลองสังเกตว่าค่าใช้จ่ายประจำอะไรที่สามารถลดได้บ้าง หลายคนไม่รู้ตัวว่ากาแฟที่ซื้อก่อนทำงานทุกวันสูบเงินคุณไปเดือนนึงเป็นหลายพันบาท  วันไหนที่รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องดื่มกาแฟได้ ลองงดดูก่อน หรือเปลี่ยนเป็นชงกาแฟที่ทำงานจะได้ประหยัด

เปิดเทอมนี้ ต้องจ่ายอะไรบ้าง

  • อินเทรนด์เกินไปหรือเปล่า

อินเทรนด์กับแฟชั่นหรือเทคโนโลยีเกินไปรึเปล่า ถ้ามีเสื้อผ้าแนวใหม่ หรือโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ เป็นคนแรกๆ ที่พนักงานจะได้เห็นยืนรออยู่หน้าร้านหรือเปล่า ถ้ามีพฤติกรรมแบบนี้ ต้องปรับตัว เพราะของเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับคุณสามีที่ชอบแต่งรถ คุณลองคิดดูว่าถ้าคุณไม่แต่งรถ จะมีเงินเก็บพอที่จะใช้ซื้อข้าวของจำเป็นอื่นๆ ได้มากขนาดไหน

  • เป็นเจ้าแม่เงินผ่อนหรือเปล่า

เหลือบตาไปมองบิลเรียกเก็บ ค่าบัตรเครดิตกันหน่อย  ผ่อนของอยู่กี่อย่างแล้ว  ไม่ควรผ่อนของหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้ไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปเท่าไหร่แล้ว และเดือนหน้าต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกเดือนด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเครียดเวลาใกล้เปิดเทอมเช่นนี้

  • คิดทุกครั้งก่อนซื้อ

ตัดทิ้งไปเลย กับความคิดว่าถ้ามีนู่น มีนี่แล้วจะดูเท่ห์  ดูโก้หรู  เพราะเรื่องนี้ จะทำให้กระเป๋าเงินแห้ง เหมือนโดนสูบออกไปได้ง่ายๆ หรือเมื่อเดินผ่านร้านขายเสื้อผ้าแล้วเจอเสื้อสวย ก็ซื้อทันทีถึงแม้ว่าคุณจะมีเสื้อผ้าเต็มตู้ ก็ต้องเลิกเช่นกัน ท่องเอาไว้ อย่าซื้อของที่ไม่จำเป็น

นอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว อย่าลืมสร้างความปลอดภัยให้ลูกด้วย ในช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 ยังไม่ได้หยุดการระบาดอย่างถาวร

6 แนวทางโรงเรียนปลอดโควิด

  • โรงเรียนมีมาตรการคัดกรอง เช่น วัดไข้ก่อนเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองร่วมให้ประวัติ หากมีความเสี่ยง หากเด็กมีอาการไข้ไม่สบายต้องหยุดเรียนทันที และแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
  • ให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในโรงเรียน
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
  • เว้นระยะห่างในห้องเรียน เน้นจัดการเรียนการสอนให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ให้มีกิจกรรมทำในกลุ่มเดียวกันตลอดทั้งวัน
  • ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน อาทิ สนามเด็กเล่น ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ร่วมกับการจัดกลุ่มสลับกันใช้งานเพื่อช่วยลดการสัมผัสร่วมกันจำนวนมาก
  • ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่เกิดการรวมกลุ่มของเด็ก

ขอบคุณข้อมูล : The Asianparent Thailand

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo