Finance

‘แบงก์ชาติ’ ผุด 3 มาตรการฝ่าโควิด ตั้งกองทุนแสนล้านเพิ่มสภาพคล่องตราสารหนี้

“แบงก์ชาติ” ผุด 3 มาตรการฝ่าวิกฤติ “โควิด-19” หลังนักลงทุนกังวลแห่ไถ่ถอน “ตราสารหนี้” ถือเงินสด ลุยตั้งกองทุน 1 แสนล้านเสริมสภาพคล่อง

000ไำด8ดห465ห 1

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (22 มี.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ร่วมกันแถลงข่าวด่วน เรื่อง “มาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19”

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความกังวลใจให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ราคาสินทรัพย์ผันผวน นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีสัญญาณผิดปกติ หลายประเทศจึงออกมาตรการต่างๆ มาดูแลเศรษฐกิจและการเงิน

กระทรวงการคลัง ธปท. และ กลต. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและตัดสินใจออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพการเงินไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในตลาดเงิน จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

“อยากเรียนยืนยันอีกครั้งว่า สภาพคล่องของประเทศไทยขณะนี้มีมากพอ ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินของเรามีมากพอ แล้วที่บอกว่าตลาดบางกว่าปกติ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ คนกังวลใจเรื่องโควิด-19 จึงหันไปถือเงินสด เลยปล่อยหุ้นกู้ออกมา จริงๆ แล้วหุ้นกู้ที่มีอยู่หรือตลาดทุนที่อยู่ เป็นหุ้นกู้ที่มีเสถียรภาพความมั่นคงทั้งสิ้น เพียงพอคนอยากถือเงินสดเฉยๆ” นายประสงค์กล่าว

90238496 1091542564528503 7054991964210462720 o

ไม่เหมือนปี 40

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอยืนยันว่าระบบสถาบันการเงินไทย “มีเสถียรภาพดี” ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนที่มั่นคง และสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สูง สถานการณ์ตอนนี้เป็นคนละเรื่องกับเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540

แต่เนื่องจากสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงเห็นได้ว่าตลาดเงินตลาดทุนโลกได้รับผลกระทบและมีความผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดการเงินบางลงและไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนปกติ กลไกตลาดสะดุดไปบ้าง ราคาสินทรัพย์มีความผันผวนสูง ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เริ่มเข้ามาในตลาดการเงินไทยบ้าง

ที่ผ่านมา ธปท. จึงดำเนินมาตรการหลายด้านเพื่อลดผลกระทบ เช่น วันที่ 13-20 มีนาคม 2563 ธปท. ได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1 แสนล้านบาท ลดวงเงินการออกพันธบัตร ยกเลิกการออกพันธบัตรบางรุ่น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดเงินสามารถทำงานได้ตามปกติ

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประชุมนัดพิเศษและมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.75% ต่อปี ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เพราะไวรัสโควิด-19 รุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ โดย กนง. และ ธปท. ขอยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงิน

90144944 1091552534527506 602980109476954112 o

อัด 3 มาตรการ

นายวิรไท กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นห่วงตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและกองทุนรวมตราสารหนี้ เพราะมีนักลงทุนจำนวนมากที่กังวล ไปเร่งขายหน่วยลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ จนกองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่งต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น ซึ่งส่งผลให้มูลค่าหน่วยลงทุนลดลงและกระทบต่อสภาพคล่อง ถ้าหากปล่อยไปจะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เอกชน และประชาชนผู้ถือหน่วยลงทุนได้

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการ 3 ด้าน เพื่อลดความกังวลของผู้ถือหน่วยตราสารหนี้และแก้ปัญหาสภาพคล่อง ดังนี้

มาตรการที่ 1 ธปท. จะจัดตั้งกลไกพิเศษเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมที่มีคนเทขาย โดยให้ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยการลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ (Daily fixed income fund) ที่ได้รับผลกระทบและถือสินทรัพย์คุณภาพดี สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาใช้เป็นหลักประกัน (Repurchase Agreement) เพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท. ได้

โดยเบื้องต้นประเมินว่า กองทุนตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีและสามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท. มีมูลค่ารวมกันทั้งหมดกว่า 1 ล้านล้านบาท โดย ธปท. จะใช้มาตรการนี้ต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

มาตรการที่ 2 ธปท. จะช่วยเหลือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนดและต้องการต่ออายุ (Rollover) โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 7 หมื่น- 1 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ที่เอกชนต้องการ Rollover แต่ไม่สามารถ Rollover ได้ครบวงเงิน โดยปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนนี้แล้วมูลค่ารวม 8 หมื่นล้านบาท

ในสภาวะที่ไม่ปกตินี้ ถ้าบริษัทเอกชนไม่สามารถ Rollover ต่อได้ กองทุนนี้ก็จะเข้าไปช่วยเติมสภาพคล่องเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้สามารถต่ออายุหุ้นกู้ได้

มาตรการที่ 3 ตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งปกติจะเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง แต่ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีความผันผวนมากกว่าสถานการณ์ปกติ  ธปท. จึงพร้อมดูแลให้ตลาดพันธบัตรสามารถทำงานได้ตามกลไกตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเมื่อไหร่มีสภาพคล่องไม่พอ ธปท. จะเข้าไปเพิ่มสภาพคล่องให้ เพราะถ้าหากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลมีความผันผวน ก็จะส่งผลต่อหุ้นกู้ประเภทอื่นๆ ด้วย

fig 05 10 2019 03 25 17

ขอผ่อนผันประชุมผู้ถือหุ้น

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ถ้าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไม่สามารถจัดการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี ภายใน 4 เดือนหลังปิดงบประมาณตามที่กำหนด ก็สามารถทำหนังสือขอผ่อนผันได้

นอกจากนี้ การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอาจจะใช้วิธีมอบอำนาจให้กรรมการอิสระลงคะแนนเสียงแทน หรือการประชุมทางไกล ส่วนการจัดทำงบการเงิน เช่น เรื่องการตั้งด้อยค่าต่างๆ ขอให้ทางสภาวิชาชีพบัญชีผ่อนผันทางมาตรฐานบัญชีให้กับบริษัทจดทะเบียน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight