Finance

กลุ่มซีพี-ไทยเบฟฯโกยปันผลปีนี้ 3-7 พันล้าน

S 7405579

 

เริ่มเข้าสู่เทศกาลรับเงินปันผลกันแล้ว โดยในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะจ่ายผลตอบแทนคืนให้กับผู้ถือหุ้น และปีนี้ผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าจะมีอัตราที่ดีกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา เพราะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น จึงน่าจะจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้นด้วย

สำหรับตลาดหุ้นไทย ผลตอบแทนจากเงินปันผลจากผลประกอบการงวดปี 2560 อยู่ที่อัตราเฉลี่ย 2.7% ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากว่า 200 บริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด

จากสำรวจบริษัทในเครือของ 2 ตระกูลดังของไทย คือ ตระกูลของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ หรือเบียร์ช้าง และตระกูลของ
“ธนินท์ เจียรวนนท์”
เจ้าของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี พบว่า บริษัทในกลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละตระกูล ส่วนใหญ่มีกำไร และสามารถจ่ายเงินปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง

ในแต่ละปีบริษัทของกลุ่มตระกูลดังกล่าว จะได้รับเงินสดที่มาจากเงินปันผลราว 2 – 7 พันล้านบาทต่อปี (คำนวณจากการถือครองหุ้นของบริษัทในเครือโดยตรง และไม่นับหุ้นที่อยู่ในพอร์ตคัสโตเดียน หรือทางอ้อม) โดยในงวดผลประกอบการปี 2560 กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี รับเงินมูลค่า 3.08 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดปี 2559 ได้รับเงินปันผล ประมาณ 2.47 พันล้านบาท

ปี 2560 กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี รับเงินปันผล 3.08 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดปี 2559 ได้รับประมาณ 2.47 พันล้านบาท

กลุ่มบริษัทของตระกูลสิริวัฒนภักดี 9 บริษัท ซึ่งมีศักยภาพจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC จ่ายปันผลในปี 2560 อัตราหุ้นละ 0.57 บาทต่อหุ้น ซึ่งบริษัทในเครือกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี รับเงินปันผลรอบนี้มูลค่ารวม 1.46 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 มูลค่า 1.28 พันล้านบาท บริษัทโออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI จ่ายปันผลรอบ ปี 2560 อัตราหุ้นละ 3.04 บาท บริษัทในเครือรับเงินปันผลรอบนี้ มูลค่า 507.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 รับเงินปันผล มูลค่า 373.40 ล้านบาท

บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV จ่ายปันผลรอบปี 2560 อัตราหุ้นละ0.22 บาท บริษัทในเครือรับปันผลมูลค่า 277.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 รับเงินปันผลมูลค่า 252.40 ล้านบาท บริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GOLD ในปี 2560 จ่ายปันผลอัตราหุ้นละ 0.25 บาท บริษัทในเครือรับเงินปันผลมูลค่า 460.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 รับเงินปันผลมูลค่า 423.31 ล้านบาท

บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ในปี 2560 จ่ายปันผลอัตราหุ้นละ 0.10 บาท มูลค่า 122.77 ล้านบาท ขณะที่รอบปี 2559 กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดียังไม่ได้เข้ามาถือหุ้น จึงไม่ได้รับสิทธิ์เงินปันผล บริษัทอาหารสยาม จำกัด(มหาชน) หรือ SFP จ่ายเงินปันผลปี 2560 อัตราหุ้นละ 16.50 บาท บริษัทในเครือรับเงินมูลค่า 245.36 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จ่ายปันผลเพียง 133.83 ล้านบาท

ขณะที่มีอีก 3 บริษัทของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี ไม่สามารถจ่ายเงินปันผล เนื่องจากยังอยู่ประสบกับภาวะการขาดทุนได้แก่ บริษัทเสริมสุข จำกัด(มหาชน) หรือ SSC บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN และบริษัทอินทรประกันภัย จำกัด(มหาชน) หรือ INSURE

ด้านกลุ่มบริษัทของตระกูลเจียรวนนท์ ในปี 2560 รับเงินปันผลของบริษัทในเครือรวมกว่า 7.75 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 รับเงินอยู่ที่ 7.57 พันล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่กลุ่มบริษัทจดทะเบียนของกลุ่มเจียรวนนท์ สามารถจ่ายปันผลได้ทุกบริษัท โดยบริษัทในกลุ่มดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL จ่ายปันผลงวดปี 2560 อัตราหุ้นละ 1.10 บาท ส่งผลให้บริษัทในเครือรับเงินปันผลรวม 3.27 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2559 รับเงินปันผลให้มูลค่า 2.97 พันล้านบาท

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF งวดปี 2560 จ่ายปันผลอัตราหุ้นละ 0.75 บาท ทำให้บริษัทในเครือได้รับเงินปันผล 2.24 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2559 รับเงินปันผลอยู่ที่ 2.84 พันล้านบาท บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE งวดปี 2560 จ่ายปันผลให้อัตราหุ้นละ 0.03 บาท ทำให้บริษัทในเครือรับเงินปันผล 260.40 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 บริษัททรูฯ งดจ่ายเงินปันผล บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO งวดปี 2560 จ่ายปันผลอัตราหุ้นละ .96 บาท ส่งผลให้บริษัทในเครือรับเงินปันผล 1.97 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2559 รับเงินปันผล 1.74 พันล้านบาท

"ตระกูลเจียรวนนท์" รับเงินปันผลปี 2560 รวมกว่า 7.75 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 รับเงินอยู่ที่ 7.57 พันล้านบาท

ทั้งนี้ หากสังเกตุจะเห็นว่า รูปแบบการถือครองหุ้นของทั้ง 2 ตระกูล มีคล้ายคลึงกัน คือการถือหุ้นในธุรกิจที่ต่อยอดจากธุรกิจที่มีอยู่ และถือครองหุ้นมากกว่า 50% แต่ความแตกต่างกันก็มีให้เห็น คือ หุ้นของบริษัทในกลุ่มสิริวัฒนภักดี จะมีจำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดหรือ ฟรีโฟลทต่ำ จนใกล้เข้าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์กำหนดที่ไม่ต่ำกว่า15% เนื่องจากสัดส่วนการถือครองที่สูง ทำให้การซื้อหรือขายหุ้นค่อนข้างลำบาก ขณะที่หุ้นของบริษัทในกลุ่มเจียรวนนท์ การถือครองหุ้นประมาณ 30-40% จึงมีจำนวนฟรีโฟลทสูงกว่า หรือสภาพคล่องจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม หากดูกันที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล เปรียบเทียบหุ้นของทั้ง 2 ตระกูลดัง จะพบว่าอัตราผลตอบแทนการจ่ายเงินปันผลของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดีจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยบริษัทในเครือให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลตั้งแต่ระดับ 0.98-7.17%

สำหรับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของกลุ่มบริษัทตระกูลเจียรวนนท์ มีอัตราผลตอบแทนอยู่ระดับ 0.43-2.88%

ดังนั้น หากผู้ลงทุนสนใจจะลงทุนในหุ้น 2 ตระกูลดัง ก็คงพอที่จะมีคำตอบว่าควรเลือกลงทุนหุ้นของกลุ่มไหนที่จะตรงกับเป้าหมายในใจของแต่ละคน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight