Finance

เช็ครายชื่อ ’11 หุ้นใหญ่’ เทรดต่ำบุ๊คแวลู!!

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ปี 2561 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 7.95% และดัชนีได้ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 1,634.44 จุด โดยหุ้นขนาดใหญ่เป็นหุ้นนำตลาดส่วนมากปรับตัวลดลง ขณะที่แรงขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังมีเข้ามาต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มมูลค่าเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงไปบ้างแล้ว

โดยหากพิจารณาการซื้อขายแยกรายกลุ่มนักลงทุนไตรมาส 2 นักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิ 6 หมื่นล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1.12 หมื่นล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ มียอดขายสุทธิ 1.18 แสนล้านบาท และนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 6.97 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อสำรวจข้อมูลย้อนหลังของการขายของต่างชาติเป็นช่วงรายไตรมาสตั้งแต่ปี 2542 พบว่า ไตรมาส 2 ปี 2561 ถือเป็นไตรมาสที่ต่างชาติทุบสถิติขายหุ้นไทยรายไตรมาสเกิน 1 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นในไตรมาส 3 ปี 2558 มียอดขายสุทธิ 9.1 หมื่นล้านบาท

เปิดโผ 11 หุ้นใหญ่เทรดต่ำบุ๊คแวลู

ปัจจัยที่มีผลกระทบทำให้ต่างชาติขนเงินออกจากตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ปี2561  เรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน และยุโรป ซึ่งลุกลามไปในวงกว้าง ผสมโรงกับประเด็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เงินสกุลดอลลาร์แข็งค่าและเงินบาทอ่อนค่าลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันการที่ดัชนีเอ็มเอสซีไอปรับลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่เพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นจีน และ เตรียมนำ Saudi Arabia และ Argentina รวมในดัชนี Emerging Markets คาดว่าจะเริ่มในปีหน้า และกำลังพิจาณา ซึ่งเป็นปัจจัยที่น่าจะมีผลกระทบและซ้ำเติมแรงเทขายต่างชาติอีกครั้ง

เมื่อภาพรวมตลาดหุ้นไทย ยังขาดปัจจัยใหม่หนุนนำให้ดัชนีสามารถปรับตัวขึ้นไปยืนเหนือนระดับ 1,700 จุด ดังนั้นผู้ลงทุนคงจะต้องสรรหาหุ้นที่น่าลงทุนและมีโอกาสที่ราคาจะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ เมื่อดัชนีหุ้นสามารถฟื้นตัวอีกครั้ง

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 โดยหุ้นที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 100 อันดับแรก โดยมีราคาเทียบกับมูลค่าทางบัญชี หรือ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำ และปลอดภัยในการลงทุน ซึ่งพบว่า ปัจจุบันมีจำนวน 11 หุ้น ประกอบด้วย หุ้น BBL มีค่าP/BV อยู่ที่ 0.91 เท่า KTB 0.82 เท่า DIF 0.91 เท่า TCAP 0.89 เท่า JASIF 0.94 เท่า BCP 0.99 เท่า TPIPL 0.8 เท่า BLAND 0.68 เท่า THAI 0.9 เท่า BA 0.93 เท่า CIMBT 0.82 เท่า

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า หุ้นเทรดต่ำบุ๊คแวลูจะอยู่ในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ และน่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการซื้อลงทุน เนื่องจากในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ กลุ่มแบงก์จะทยอยประกาศผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2 ปี 2561

เปิดโผ 11 หุ้นใหญ่เทรดต่ำบุ๊คแวลูv2 1

“สมบัติ เอกวรรณ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า การใช้ตัวเลขบุ๊คแวลูต่ำเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเข้าลงทุนได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมและมีปัจจัยอย่างอื่นที่ต้องใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขอีบิทดา ค่าพีอีเรโช อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น และอื่นๆ

สำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์ จะให้น้ำหนักในการพิจารณา ตัวเลขบุ๊คแวลูมาใช้ในการตัดสินใจเข้าลงทุนหุ้นมากกว่าหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตอื่นๆ

ด้านบล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ประเมินว่า ภาวะตลาดผันผวนจากแรงขายนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบัน จาก กังวลสงครามการค้า และ ความ กังวลค่าเงินตลาดเกิดใหม่ที่อาจอ่อนค่า จะทำให้หุ้นขนาดใหญ่มีแรงขายมากกว่าปกติ ขณะที่หุ้นขนาดกลาง – เล็ก ที่พื้นฐานไม่เปลี่ยน และมีมูลค่าพื้นฐานไม่แพง คาดว่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี จากภาวะตลาดที่เผชิญกับแรงขายมากเกินไป (Oversold) อาจทำให้มีแรงเก็งกำไรรีบาวด์ในหุ้นขนาดใหญ่ SET50 หรือ บางตัวใน SET100 ที่มีเครื่องมืออนุพันธ์ ขณะที่หุ้นพื้นฐานดี และราคายังไม่สูงเน้นให้ทยอยสะสมเมื่อราคาย่อตัวตามภาวะตลาดฯ ประกอบด้วย หุ้นกลุ่มโยง EEC ซึ่งจะรับผลดีจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยเลือกหุ้น CK, หุ้นSTEC และหุ้น  AMATA  หุ้นกลุ่มยานยนต์ เลือก AH และ ASAP  หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เลือก BBL

ส่วนหุ้นขนาดกลาง – ขนาดเล็กพื้นฐานดี ราคาไม่แพงมาก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้จากราคาเหมาะสม จะยังปลอดภัยจากแรงขายต่างชาติ และนักลงทุนสถาบัน มีโอกาสปรับตัวขึ้นชนะดัชนี ตลาดได้อีกด้วย

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำให้ลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากฝ่ายวิจัยได้คงประมาณการสินเชื่อปี 2561 ของกลุ่มธนาคารที่ 6%จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมุมมองบวกต่อแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 2 ปี 2561 ซึ่งช่วงที่เหลืองของปีขยายตัวต่อเนื่อง หนุนจากภาคส่งออก และการท่องเที่ยวที่เติบโตแข็งแกร่ง รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลังจนนำไปสู่การปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2561 ของ ธปท. จาก 4.1% เป็น 4.4% ด้านสินเชื่อรายย่อย คาดปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า เพราะหมดภาระหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรก

อย่างไรก็ตาม ยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” แม้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร ณ ปัจจุบันซื้อขาย P/BV ใกล้เคียง -ค่าเฉลี่ย 10 ปีในอดีต แต่มองว่าในระยะสั้น-กลาง กลุ่มธนาคารยังขาดปัจจัยบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งจะทราบผลกระทบนี้อย่างชัดเจนในการรายงานงบไตรมาส 2 ปี 2561 กลางเดือนกรกฎาคมนี้ อีกทั้งรายได้ดอกเบี้ยมีความเสี่ยงจากภาวะการแข่งขันด้านราคาในกลุ่มสินเชื่อความเสี่ยงต่ำ อย่างสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อภาคธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)

ฝ่ายวิจัยได้เลือกหุ้น BBL และหุ้น KKP เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มด้วยผลกระทบจำกัดจากการยกเว้นค่าธรรมเนียม ขณะที่แนวโน้มกำไรปี 2561 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight