Finance

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาด ‘กนง.’ คงดอกเบี้ยระดับเดิม

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดที่ประชุม “กนง.” วันที่ 7 ส.ค. จะคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมที่ 1.75% ยังหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% โดยมองว่ายังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพในระบบการเงิน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะมีแรงส่งชะลอลง แต่ยังคาดหวังผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่จะประคองภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้ปรับดีขึ้นจากครึ่งแรกของปี

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าคงมีน้ำหนักมากขึ้นในการตัดสินใจนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา แรงฉุดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคต่างประเทศเป็นผลจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดสหรัฐประกาศเพิ่มการเก็บภาษีสินค้าจีน 10% กับสินค้ากลุ่มที่เหลือ 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 กันยายน 2562 นอกจากนี้ ประเด็น Brexit อาจจะมีผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน อย่างไรก็ตาม กนง.คงรอติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

นอกจากนี้ ภาพรวมของตลาดการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง-ยาวปรับลดลง 0.3 – 0.9% จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลอดจนแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ลดลงจากมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อการปรับนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมรอบกรกฎาคม 2562 ว่าเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยกลางวัฎจักร ไม่ใช่การส่งสัญญาณถึงวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงอาจจะช่วงลดแรงกดดันต่อปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง.คงจะประเมินทิศทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้า โดยคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยหนุนอย่างรอบคอบ หากทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลงจากครึ่งแรกคงจะเปิดโอกาสให้ กนง.มีการทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป

ขณะที่ประเด็นเสถียรภาพระยะยาว ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ กนง.ให้น้ำหนักในช่วงนี้ ทั้งนี้ กนง.คงจะเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินภายใต้ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงเชิงเสถียรภาพการเงินจากการเร่งตัวขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่อาจเป็นปัจจัยกดดันศักยภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว โดย ธปท.ประกาศใช้มาตรการดูแลความเสี่ยงเฉพาะทาง อาทิ การกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน ตลอดจนมาตรฐานดูแลคุณภาพสินเชื่อ อาทิ การจำกัดอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ คาดว่าจะประกาศใช้สิ้นปีนี้ ต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ในการปรับลดปัจจัยเสี่ยงเชิงเสถียรภาพ

Avatar photo